เงินทอน 3 หมื่นล้าน ‘รถไฟฟ้าสีส้ม’ ตกราง!

มหากาพย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งสังคมเชื่อว่ามีความไม่โปร่งใสในการประมูลโครงการมูลค่ากว่าสองแสนล้านบาท และนี่อาจเป็น “เค้กก้อนใหญ่” ที่มีกระแสเสียงกล่าวหาว่า...ผู้ที่เกี่ยวข้องมีเดิมพันผลประโยชน์สูงถึง 3 หมื่นล้านบาท จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกันหลายคดีด้วยกัน

............

83 ปีแห่งการรอคอย (พ.ศ.2563-2566)

คิกออฟจากวันที่ 3 ก.ค. 2563 รฟม.ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership หรือ PPP) หรือการอนุญาต หรือให้สัมปทาน หรือให้สิทธิแก่เอกชนดําเนินกิจการของรัฐ ทั้งในกิจการเชิงพาณิชย์และสังคม

จากนั้นมีการขายซอง RFP (Request for Proposal) หรือเอกสารที่แสดงข้อมูลและความต้องการของ รฟม. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการพบว่ามีเอกชนสนใจซื้อซองมากถึง 10 ราย และในช่วงเดือน ส.ค. 2563 รฟม.ได้แจ้งปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอ จากเกณฑ์พิจารณาด้านราคา 100 คะแนน เป็นประเมินให้คะแนนด้านเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน จนนำไปสู่การฟ้องร้องบานปลายจวบจนขณะนี้              

สำหรับโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” (บางขุนนนท์-สุวินทวงศ์) ถือว่าเป็นเส้นทางที่ยาวรองลงมาจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว (คูคต-เคหะสมุทรปราการ,สนามกีฬา-บางหว้า) โดย “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” มีระยะทาง 35.9 กม. จำนวน 28 สถานี วิ่งเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ รวมค่าก่อสร้างเฉพาะงานโยธา 172,906 ล้านบาท  ค่างานระบบ 31,000 ล้านบาท

แนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ วิ่งตามแนวทางรถไฟเดิมไปยังโรงพยาบาลศิริราช วิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาขนานไปกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้ถนนราชดำเนิน เข้าถนนหลานหลวง เลี้ยวขวาไปตามถนนเพชรบุรี-แยกประตูน้ำ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชปรารภ-สามเหลี่ยมดินแดง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิภาวดีรังสิต เลี้ยวขวาผ่านกรุงเทพมหานคร 2 ลอดผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์ ไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรม จากนั้นวิ่งไปตามแนวถนนพระราม 9 ลอดใต้คลองแสนแสบ ไปถนนรามคำแหง-บริเวณคลองบ้านม้า ก่อนเปลี่ยนจากใต้ดินเป็นทางวิ่งยกระดับ บนถนนรามคำแหง-บริเวณคลองสองที่สถานีมีนบุรี สิ้นสุดแนวเส้นทางที่สถานีสุวินทวงศ์ บริเวณสามแยกรามคำแหง-สุวินทวงศ์ รวมค่าก่อสร้างเฉพาะงานโยธา 172,906 ล้านบาท ค่างานระบบ 31,000 ล้านบาท

BTSC หนึ่งในเอกชนที่ยื่นซองประมูลครั้งที่ 1 ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง และศาลมีคำสั่งขอทุเลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ชนะที่มีการปรับปรุงใหม่ไว้ชั่วคราว ด้าน รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำสั่งระงับคำสั่งทุเลาการบังคับหลักเกณฑ์ใหม่ที่เอกชนเคยร้องไว้ จนเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 คณะกรรมการมาตรา 36 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน (พ.ศ.2562) ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หรือ ล้มการประมูลครั้งแรก

โดยตลอดปี 2564 เรื่องราวยังคงยืดเยื้อต่อเนื่องการฟ้องร้องยังคงดำเนินต่อไปทำให้ รฟม. ไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อได้ โดยระหว่างทาง เอกชนยังยื่นฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการ ม.36 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ต่อมาในช่วง ก.ย.2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณีที่ห้าม รฟม.เปิดประกวดราคาครั้งใหม่

 

ประกวดราคา “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ครั้งที่ 2        

24 พ.ค. 2565 รฟม.ประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีเอกชนที่เข้าซื้อซอง RFP 2 รายคือ BEM และ ITD Group ซึ่งประกอบด้วย ITD และ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ผู้เดินรถไฟฟ้าจากเกาหลี ส่วน BTSC ไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ เพราะหาผู้รับเหมามาเป็นผู้ร่วมยื่นข้อเสนอไม่ได้ เนื่องจากมีการปรับแก้คุณสมบัติของผู้รับเหมาให้ผ่านเกณฑ์ยากขึ้นกว่าครั้งที่ 1

เรื่องราวฟ้องร้องยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางกระบวนการประกวดราคาครั้งที่ 2 ซึ่ง รฟม.ได้มีการเปิดรับข้อเสนอของเอกชน และเปิดซองข้อเสนอของโครงการสายสีส้ม ในขณะที่ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามที่เอกชนร้องขอ และเห็นว่าการประกวดราคาครั้งที่ 2 เป็นการดำเนินการที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

16 ก.ย.2565 รฟม.ประกาศผลพิจารณาข้อเสนอเอกชน โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด แต่การประกวดราคายังไม่สามารถเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและชงเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและประกาศผู้ชนะการประกวดราคาก่อสร้าง “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากขณะนี้ยังมีคดีที่ค้างอยู่ในศาลมากถึง 3 คดี ได้แก่ คดีปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาการประมูลครั้งที่ 1 ร้องโดย BTSC

 

 “ชูวิทย์” แฉปม “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ส่อทุจริตมีเงินทอนสูงถึง 3 หมื่นล้าน

ระหว่างที่ความพยายามจะปิดดีลรถไฟฟ้าสายสีส้มนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. “ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์” ออกมาแฉถึงกระบวนการประกวดราคาของ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ว่า  ขั้นตอนการประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้มมีหลายจุดที่น่าสงสัยพร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่ามีการฮั้วกันหรือไม่ รวมไปถึงยังแง้มว่ามีเงินทอนจากโครงการจำนวน 30,000 ล้านบาท ที่ถูกโอนไปยังประเทศสิงคโปร์ เพื่อเตรียมสำหรับการใช้เป็นกระสุนในศึกการเลือกตั้ง 2566

 

“รฟม.-ภูมิใจไทย”ดาหน้าท้า “ชูวทิย์” เปิดหลักฐานเงินทอน

ขณะที่ รฟม.ก็ออกมาตอบโต้ทันควันว่า กระบวนการทุกอย่างถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบไม่ได้มีการล็อกสเปก พร้อมกับท้าว่าหาก “ชูวิทย์” มีหลักฐานการโอนเงินทอน 30,000 ล้านบาทไปประเทศสิงคโปร์จริง ก็ให้เอาหลักฐานออกมาแสดงได้เลย

เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย แถลงเรียกร้องให้ “ชูวิทย์” นำหลักฐานเงินทอน 30,000 ล้านบาทมาแสดงให้สังคมได้รับรู้ อย่าพูดจาลอยๆ โดยไม่มีหลักฐาน

วันนี้ชูวิทย์ เฉไฉไม่ยอมตอบ เหตุเพราะสิ่งที่พูดไม่มีอยู่จริงใช่หรือไม่ และหากชูวิทย์มือซื่อใจสะอาดจริง ก็ควรไปตรวจสอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพราะคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แจ้งข้อกล่าวหา กรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว มีผู้ถูกกล่าวหา 13 คน คือ อดีตผู้ว่าฯ กทม. บีทีเอส และผู้บริหาร

 

ดิ้นสุดฤทธิ์ยัดไส้ขอไฟเขียว ครม.นัดสั่งลา

14 มี.ค.2566 การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสั่งลา ซึ่งเป็นการประชุมครม.นัดสุดท้ายของรัฐบาลภายใต้การนำของ “3 ป.” มีการพิจารณาเรื่องสำคัญหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นก็คือ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” แม้หัวหน้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะปฏิเสธสื่อมวลชนหลังการประชุมว่า ไม่ได้มีการหยิบยก “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” หารือในที่ประชุม ครม.ก็ตาม ทว่าภายหลังรัฐมนตรีที่ร่วมประชุมต่างออกมาให้สัมภาษณ์คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการขอมติ ครม.ในโครงการเจ้าปัญหาที่มีการฟ้องร้องอยู่ในศาลหลายคดี อีกทั้งยังมีมูลค่าที่สูง จึงเห็นควรให้รัฐบาลสมัยหน้าพิจารณา

บทสรุปสุดท้าย 3 ปีแห่งการรอคอยรถไฟฟ้าสายสีส้ม ท่ามกลางกระแสเสียง...ข้อกล่าวหา “เงินทอน 3 หมื่นล้าน” ใครจะได้...หรือไม่ได้อย่างไร แม้เจ้ากระทรวงคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จะถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ หากแต่ประชาชนเจ้าของเงินงบประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาทได้รับความเสียหายพลาดโอกาสที่จะใช้ระบบสาธารณูปโภคเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตไปแล้วนั้นเอง ปฐมเหตุแห่งปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก็ล้วนเกิดจากขบวนการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ประมูลที่พิสดาร จนนำไปสู่การได้เปรียบเสียเปรียบของเอกชนที่ร่วมแข่งขันประกวดราคาหรือไม่ วิญญูชนย่อมรู้ดี???