Home Thailand ป.ป.ช.เผยทุจริต ‘ลงทุนในไทย’ ระดับปานกลาง ชี้ ‘จนท.รัฐ’ ขาดจิตสำนึก-เรียกรับเงิน

ป.ป.ช.เผยทุจริต ‘ลงทุนในไทย’ ระดับปานกลาง ชี้ ‘จนท.รัฐ’ ขาดจิตสำนึก-เรียกรับเงิน

by admin

ป.ป.ช. เผยผลสำรวจการรับรู้ทุจริตของการลงทุนในไทยอยู่ระดับ ‘ปานกลาง’ ชี้การให้บริการที่ล่าช้าทำให้เกิดการเรียกรับเงิน-ผลประโยชน์ อนาคตทุจริตส่อเพิ่มขึ้น เหตุยังมีช่องให้ใช้ดุลยพินิจ-จนท.ขาดสำนึก ขณะที่การมีส่วนร่วมภาคประชาชนต้านทุจริต ยังมีไม่มากพอ

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ผลสำรวจการรับรู้การทุจริตในประเทศไทย ประจำปี 2566 จากการสำรวจเจาะลึกในการประเมินการรับรู้พฤติกรรมการทุจริต ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการขอการลงทุนในประเทศไทย จากกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้เสีย 4 กลุ่ม รวม 4,458 คน ได้แก่ 1.ภาคเอกชน ประกอบด้วย นักลงทุนชาวไทย นักลงทุนชาวต่างชาติ 2.หน่วยงานภาครัฐ บุคลากรผู้ให้บริการในหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศไทย 3.ภาคประชาชน ประกอบด้วยเยาวชน อายุระหว่าง 15–24 ปี และประชาชนวัยทำงาน อายุ 25 ปี ขึ้นไป และ 4.ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย สื่อมวลชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรสาธารณประโยชน์ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)

ผลการสำรวจ พบว่า การรับรู้การทุจริตด้านการลงทุนในประเทศไทยในภาพรวม ประจำปี พ.ศ.2566 อยู่ในระดับ ‘ปานกลาง’ มีค่าคะแนนระดับการรับรู้ 3.17 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 โดยช่องทางที่ทำให้เกิดการรับรู้การทุจริตในระดับสูง คือ โซเชียลมีเดีย

การรับรู้การทุจริตของหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการด้านการลงทุนในประเทศไทย มีการทุจริตในระดับ ‘ปานกลาง’ กระบวนการขอรับการลงทุนที่เป็นความเสี่ยง มีโอกาสทำให้เกิดการทุจริต อันดับ 1 ได้แก่ ความล่าช้าในการให้บริการ ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเรียกรับเงินหรือสิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อแลกกับการให้บริการที่รวดเร็วขึ้น, อันดับ 2 การขออนุมัติ อนุญาต ใช้ระยะเวลานาน เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาหลายชั้นหลายหน่วยงาน

อันดับ 3 การใช้ดุลยพินิจในการอนุมัติ อนุญาต เกินสมควรและไม่เป็นธรรม, อันดับ 4 การให้บริการไม่เป็นไปตามขั้นตอนและระยะเวลาตามที่ประกาศไว้ โดยไม่ชี้แจงให้ผู้รับบริการทราบอย่างชัดเจน, อันดับ 5 การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารประกอบ/ค่าธรรมเนียม/ช่องทางการให้บริการไม่ชัดเจน และอันดับสุดท้าย คือ การไม่เปิดเผยข้อมูลหรือแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนและระยะเวลาในการขออนุมัติ อนุญาต ให้ผู้รับบริการทราบ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในประเทศไทย คือ 1.ระบบการขอการลงทุนที่มีเอกสารมาก ติดต่อหลายหน่วยงานใช้เวลานานตลอดจนเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐยังไม่เป็นระบบที่ดี รวมทั้งระบบการควบคุมตรวจสอบที่ทำได้ไม่ครอบคลุมทั้งระบบ 2.เจ้าหน้าที่ภาครัฐผู้ให้บริการด้านการขอการลงทุนบางส่วน ขาดคุณธรรมจริยธรรมการปฏิบัติงาน 3.ผู้ขอรับบริการบางกลุ่มขาดจริยธรรมในการทำธุรกิจ 4.มีระบบอุปถัมภ์ ระบบอิทธิพลในหน่วยงาน 5.ระบบสังคมไทยในปัจจุบัน 6.การมีส่วนร่วมในการต่อต้านการทุจริตของภาคประชาชน/ประชาสังคม ยังไม่มากพอ 7.การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เคร่งครัด และมีช่องโหว่ให้ผู้ใช้กฎหมายดำเนินงานแบบสองมาตรฐาน

ทั้งนี้ ร้อยละ 68.24 ยังเห็นว่าการทุจริตด้านการลงทุนในประเทศไทยอาจมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากยังมีช่องทางการใช้ดุลยพินิจ การมีอำนาจและพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐที่ขาดจิตสำนึกด้านความซื่อสัตย์ นักลงทุนไม่อยากเสียเวลาร้องเรียน ชี้เบาะแส เพราะไม่มั่นใจในระบบการคุ้มครอง การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนประชาสังคมในการร่วมต่อต้านการทุจริต ‘มีไม่มากพอ’ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. เสนอแนะแนวทางการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

1.รณรงค์ให้ภาคประชาชน ประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันปราบปรามการทุจริต

2.ใช้มาตรการลงโทษทางสังคม

3.ใช้ระบบ IT ในการกำกับควบคุมและตรวจสอบระบบการขอลงทุน/ลดการใช้ดุลยพินิจ

4.เปิดเผยขั้นตอนการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ชัดเจน

5.ศึกษา ทบทวน/ปรับปรุงกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต

6.เสริมสร้างความเข้มแข็งและคุณธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ

7.ประชาสัมพันธ์ข้อมูลภาครัฐเรื่องการปราบปรามป้องกันการทุจริตผ่านสื่อออนไลน์

8.ปลูกฝังเยาวชนให้เห็นความสำคัญของการทุจริต ส่งเสริมค่านิยมต่อต้านทุจริต

ทั้งนี้ การประเมินระดับการรับรู้การทุจริตดังกล่าว จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้านการลงทุนต่อไป

Related Articles

Leave a Comment