Home Thailand ‘สมศักดิ์’ แจงร่าง กม. เพิ่มอำนาจ ‘ป.ป.ท.’ หวังสกัดทุจริต

‘สมศักดิ์’ แจงร่าง กม. เพิ่มอำนาจ ‘ป.ป.ท.’ หวังสกัดทุจริต

by admin

“รองนายกฯ สมศักดิ์” ชี้แจงร่างกฎหมายเพิ่มอำนาจ ป.ป.ท. ยันเป็นการปรับปรุงให้ครอบคลุมการตรวจสอบ หวังสกัดกั้นการทุจริต ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะที่ ส.ว.ลงมติเห็นชอบ 197 คะแนน พร้อมตั้ง กมธ.วิสามัญ 26 คน พิจารณาวาระ 2 ต่อ

ที่รัฐสภา วันนี้ (1 เม.ย.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงการเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ในที่ประชุมวุฒิสภา

โดยรองนายกฯ กล่าวว่า ในนามผู้แทนคณะรัฐมนตรีขอชี้แจงร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้ที่ประชุมรับไว้พิจารณา ดังนี้ ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 มีจำนวน 22 ร่างมาตรา โดยผ่านการรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผ่านการพิจารณาตรวจร่าง จากคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นที่เรียบร้อย จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2566 และเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตามลำดับ

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ได้มีการแก้ไขจากร่างฉบับเดิม ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี จำนวน 5 มาตรา ได้แก่ มาตรา 6 ,มาตรา 9 ,มาตรา 11 ,มาตรา 12 และมาตรา 20 ซึ่งเป็นการแก้ไขรายละเอียดเพียงเล็กน้อย ไม่ได้กระทบในสาระสำคัญของกฎหมายแต่อย่างใด รายละเอียดปรากฏตามร่างพระราชบัญญัติ ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการปรับปรุงแก้ไขหน้าที่ และอำนาจการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. และสำนักงาน ป.ป.ท. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561

มีการแก้ไขนิยามคำว่า “ประพฤติมิชอบ” พร้อมมีการกำหนดระยะเวลาดําเนินการไต่สวนให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น และให้เริ่มดําเนินการไต่สวนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง รวมถึงกำหนดหน้าที่และอำนาจในการออกหมายจับ และอํานาจในการจับกุมผู้กระทําผิด ที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลความผิด และผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์หลบหนี นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สำนักงาน ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ผู้ไต่สวนคดี กรณีถูกฟ้อง หรือถูกดำเนินคดีจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

รองนายกฯ กล่าวอีกว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ครอบคลุมการตรวจสอบ การกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกมิติ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ทำให้สามารถสกัดกั้นการทุจริต และประพฤติมิชอบในสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตนจึงขอให้ที่ประชุมวุฒิสภา ร่วมกันพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการพิจารณา ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบ ด้วยคะแนน 197 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ที่ประชุมจึงเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ไว้พิจารณา และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จำนวน 26 คน เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป

Related Articles

Leave a Comment