แจงปมการยุติการเก็บเงินเข้า 6 อุทยานแห่งชาติผ่านระบบ E-Ticket ล่าสุดยืดเวลาใช้ระบบเดิมอีก 3 เดือนช่วงไฮ-ซีซั่น ควบคู่กับพัฒนาระบบใหม่ เผยยอดจัดเก็บค่าตั๋วเข้าอุทยานฯ ปี 65 จัดเก็บได้ 715 ล้าน-ปี 66 จัดเก็บได้ 1.4 พันล้าน ขณะที่ 2 เดือนล่าสุดเก็บได้ 309 ล้าน
..............
จากเหตุผิดปกติในการยกเลิกขายบัตร E-ticket เข้าอุทยานแห่งชาติ จำนวน 6 แห่ง ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ได้เตรียมเชิญ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วย “อรรถพล เจริญชันษา” รักษาการอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาชี้แจงถึงเหตุผลในการยกเลิกดังกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ กรมอุทยานฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) ในอุทยานแห่งชาตินำร่อง 6 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ,อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ,อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ,อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ,อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 และได้สิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญา เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ได้มีการอนุมัติเงินอุทยานแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2567 เพื่อดำเนินโครงการจ้างดูแลระบบการจำหน่ายบัตร E-ticket ฃซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาระบบฯ เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งกรมอุทยานฯ โดยสำนักอุทยานแห่งชาติได้หารือร่วมกับ ป.ป.ช. เพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแก้ไขปัญหาระบบการจอง การรับเงิน ระบบการสื่อสาร สัญญาณอินเตอร์เน็ต และแก้ไขปัญหาการตัดเงินผ่านระบบที่ไม่ตรงกับวันที่เข้าใช้บริการจริง ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและสถิติเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติในวันดังกล่าว ไม่สอดคล้องกัน
เช่นมีการจองและชำระเงินในวันที่ 1 แต่เข้าใช้บริการในวันที่ 7 จะทำให้สถิติเงินรายได้เกิดขึ้นในวันที่ 1 แต่สถิตินักท่องเที่ยวจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 ประกอบกับพบข้อบกพร่องจากการใช้งานระบบในส่วนอื่นๆ จึงต้องมีการพัฒนาและจัดทำระบบใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของ ป.ป.ช. โดยจะมีการพัฒนาระบบ E-ticket เพิ่มเติมอีกจำนวน 31 แห่ง
แต่เนื่องจากระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการประกวดอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ใหม่ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กับบริษัทรายอื่นๆ ในการแข่งขันเพื่อพัฒนาระบบ เนื่องจากมีบริษัทเข้ามานำเสนอระบบการจัดเก็บเงินอุทยานแห่งชาติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องปิดระบบการจองและชำระเงินผ่านระบบ E-ticket ไว้เป็นการชั่วคราว มีผลตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป
กระนั้นล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 1/2566 ที่ประชุมมีการรายงานผลการจัดเก็บเงินอุทยานฯ โดยปี 2565 จัดเก็บได้ประมาณ 715 ล้านบาท ,ปี 2566 จัดเก็บได้ประมาณ 1,467 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.-พ.ย.66) จัดเก็บได้ประมาณ 309 ล้านบาท
ซึ่งจะเห็นได้ว่า เมื่อมีการใช้ระบบการจำหน่ายบัตรค่าบริการในรูปแบบ E-ticket ควบคู่กับระบบเดิม เงินรายได้อุทยานก็มิได้ลดน้อยลงแต่ประการใด กลับยังพบว่าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ข้อมูลการจัดเก็บเงินรายได้ของอุทยานแห่งชาติ นำร่อง 6 แห่ง ผ่านระบบ E-ticket ในระหว่างวันที่ 1-29 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีการจัดเก็บเงินทั้งหมด 121 ล้านบาท โดยจัดเก็บผ่านระบบ E-ticket 40 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 32.87% ของการจัดเก็บเงินรายได้ในภาพรวม
โดยที่ประชุมได้ขอให้มีการเร่งรัดพิจารณาพัฒนาระบบการจำหน่ายบัตร E-ticket ในอุทยานแห่งชาติ ให้สามารถอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการจองและชำระเงิน ลดขั้นตอน และเหมาะสมกับการใช้งานและพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทั้ง 133 แห่ง
พร้อมกันนี้ จัดให้มีการวิเคราะห์และประเมินการใช้งานระบบการจำหน่ายบัตร E-ticket ในอุทยานแห่งชาติ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ฃและกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบให้เหมาะสม โดยเห็นว่าในช่วงเดือน ธ.ค.66-ก.พ.67 เป็นช่วงฤดูการท่องเที่ยว หรือไฮ-ซีซั่น ซึ่งเป็นโอกาสที่จะรับรู้ปัญหาและอุปสรรคการใช้ระบบ E-ticket ของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ เพื่อนำข้อดีและข้อเสียมาปรับปรุงและพัฒนาระบบ ระยะที่ 2 จำนวน 31 แห่ง
จึงมีมติให้ดูแลระบบเดิมชั่วคราว ให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลา 3 เดือนในช่วงไฮ-ซีซั่น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการ และเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ