ยลโฉม ‘ปูสองแคว’ สีสันสุดสวย สายพันธุ์หายากระดับโลก

ตามหา “ปูสองแคว” สีสันสุดสวย สายพันธุ์หายากระดับโลก เริ่มออกหากินกลางป่าเขาน้อย-เขาประดู่ “อช.แควน้อย” กรมอุทยานฯ ประกาศเขตห้ามล่าฯ หวังฟื้นผืนป่า เพิ่มโอกาส “ปู” ขยายพันธุ์

ย่างเข้าฤดูฝน สภาพป่าเริ่มเขียวขจี กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง โดยเฉพาะที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่

ทำให้ “ปูสองแคว” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ปูแป้ง” ... ปูพื้นถิ่นหายาก สีสันสุดสวย สายพันธุ์หายากระดับโลก เริ่มโผล่ออกจากรูให้นักท่องเที่ยวได้ยลโฉมกัน

“เสกสันต์ ลอมแปลง” หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ เล่าว่า ช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน สภาพป่าในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่กำลังฟื้นตัว โดยเฉพาะพื้นที่หมู่ 2 บ้านป่าคาย ต.บ้านยาง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ซึ่งมีห้วยซำตาเรือ ที่เป็นถิ่นกำเนิด “ปูสองแคว” ปูสายพันธุ์หายากของโลก กำลังคืบคลานออกมาหากิน หลังจากมุดอยู่แต่ในรูช่วงหน้าแล้ง บ่งชี้ให้เห็นว่าขณะนี้สภาพกลับคืนมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

จากสภาพความสมบูรณ์ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ ที่พบ “ปูสองแคว” สายพันธุ์หายากนั้น และยังพบ “ปูสองแคว” ในเขตอุทยานแห่งชาติแควน้อยอีกด้วย

ล่าสุดทางกรมอุทยานฯ จึงได้ประกาศเพิ่ม “เขตห้ามล่าสองแคว” บริเวณฝั่งทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ในเขตติดต่อจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว

ดังนั้นจึงถือโอกาสขอความร่วมมือจากชาวบ้าน อนุรักษ์ผืนป่าและแหล่งน้ำ เพราะแหล่งน้ำต่าง ๆ จะทำให้ “ปูสองแคว” ขยายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ จนทั่วในเขตอุทยานแห่งชาติแควน้อย

อย่างไรก็ตาม การที่จะเห็นตัวปูสองแควนั้นต้องบอกก่อนว่าค่อนข้างยาก เนื่องจากปูมักออกหากินเวลากลางคืน

สำหรับ “ปูสองแคว” เป็นปูหายาก ที่ค้นพบเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา

ลักษณะสวยงาม มีสีสันสดใส ผิดจากปูที่พบเห็นทั่วไป คือ ขอบใต้ดวงตาของปูจะมีเส้นสีขาวโค้งรับกับลูกตา ก้ามปูมีสีน้ำเงินเข้มตลอดก้าม บางตัวปลายสุดของก้ามมีสีอ่อนฟ้าควันบุหรี่ โคนก้ามเป็นสีฟ้าอ่อน บางตัวมีก้ามสีเหลือง และก้ามสีส้ม สดใสสวยงามมาก

ส่วน “กระดองปู” บางตัวมีสีเทา และบางตัวมีสีดำสนิท ขนาดของลำตัวปู ประมาณ 5-6 เซนติเมตร กินพืชน้ำและแมลงเป็นอาหาร แหล่งที่พบ ปูสองแควในลำห้วยหรือตามซอกหินที่มีน้ำไหล พื้นเป็นหินและเป็นแหล่งน้ำซับ ปูสองแควชอบที่ร่มครึ้ม ตอนกลางวันจะอาศัยอยู่ในรู ที่มีความลึกประมาณ 1-1.5 เมตร และออกหากินบนบกในเวลากลางคืน

จุดที่พบมากคือ แถบริมห้วย ที่มีโขดหิน น้ำไหลนิ่ง เห็นในบริเวณผืนดินชื้นแฉะเป็นแหล่งน้ำซับ โดยเฉพาะลำห้วยซำตาเรือ และยังพบเห็น “ปูสองแคว” ในลำห้วยอื่น แต่ไม่มากนัก

นักท่องเที่ยวที่สนใจยลโฉม “ปูสองแคว” จะต้องติดต่อทางเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก่อน เพื่อจะได้มีการจัดเจ้าหน้าที่พาไปชม เป็นการป้องกันไม่ให้ไปรบกวนปูสองแควมากนัก ที่สำคัญส่วนใหญ่จะพบเห็นปูสองแควได้ในช่วงค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่ปูสองแควออกหากิน