ว้าวุ่นเลย! เงินเดือน ขรก.ครึ่งๆ รัฐบาลถอย ชี้แค่ทางเลือก ใครไม่ชอบก็รับแบบเดิม

ดราม่าเงินเดือนข้าราชการ แบ่งจ่าย 2 งวด โลกโซเชียลคอมเม้นท์เดือด! “อยากได้เพิ่ม ไม่ใช่ได้ทีละครึ่ง” นายกฯ ชี้เป็นทางเลือก หวังช่วยข้าราชการชั้นผู้น้อยชักหน้าไม่ถึงหลัง ส่งกรมบัญชีกลางจ่าย 2 ครั้งต่อเดือน ส่วนใครไม่ชอบก็เอาแบบเก่า

............

ว้าวุ่นเลย! หลังแถลงประชุม ครม.นัดแรกของ “รัฐบาลเศรษฐา 1” ให้แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เป็นเดือนละ 2 รอบ หวังจะช่วยบรรเทาทุกข์ข้าราชการชั้นผู้น้อย ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า

จนมีคำถามตามมาว่า การแบ่งจ่ายเงิน 2 รอบ ในขณะที่จำนวนเงินเดือนยังเท่าเดิม จะช่วยให้บริหารจัดการหนี้ได้อย่างไร

ขณะที่ในโลกออนไลน์ยังคงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึง อาทิเช่น

  • ถามข้าราชการหรือยัง?
  • บัตรเครดิต ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน มันแบ่งทีละครึ่งเดือนได้เหรอ งง
  • อยากได้เพิ่ม ไม่ใช่ได้ทีละครึ่ง!
  • ต้องการเงินเดือน 25,000 ไม่ได้ต้องการจ่าย 2 รอบ ก่อนจะพูดออกมาได้ปรึกษาสหกรณ์, ไฟแนนซ์, กยศ. แล้วหรือยัง เขายอมให้หัก 2 รอบหรือเปล่า
  • สิ่งที่ควรทำคือ ปรับฐาน ป.ตรีเป็น 25k ตามที่โฆษณาไว้
  • สรุปไม่ได้ช่วยข้าราชการ แต่เพิ่มงานให้ธุรการราชการต้องทำจ่ายสองรอบ อีกนิดก็จะจ่ายรายอาทิตย์แบบสาวโรงงาน ขั้นต่อไปจ่ายรายวันแบบคนแบกข้าวสาร ใครไม่มาทำงานไม่ได้รับติ้วขึ้นเงินตอนเย็น ปัญหาไม่น่าอยู่ที่การแบ่งจ่าย ปัญหาใหญ่มันคือค่าครองชีพสูง สวนทางกับรายได้ต่ำมั้ย นี่คือการแก้ปัญหาจริงๆ ใช่มั้ย
  • แทนที่ฝ่ายการเงินจะเอาเวลาไปทำงานด้านอื่น ต้องมาทำเรื่องเงินเดือน 2 รอบ ยิ่งองค์กรใหญ่ๆ ยิ่งเหนื่อย
  • อย่าเอาความรวยของคุณมาตัดสินว่า การได้เงินเดือน 2 ครั้งใน 1 เดือนจะแก้ปัญหาความจนได้ มันจะยิ่งจน เพราะต้องไปกู้หนี้มาจ่ายหนี้ในทันรอบ คุณมีอำนาจอยู่ในมือ เป็นถึงคนบริหารประเทศ ไม่มีข้อมูลอะไรก่อนคิดมาตรการต่าง ๆ เลยหรือ ทั้งคุณและทีมงานของคุณสมองช่างตื้นเขิน

เหล่านี้เป็นคอมเม้นต์บางส่วนที่หยิบยกมาจากทวิตเตอร์ (X) แฮชแท็ก #เงินเดือนข้าราชการ

ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์เช้าวันนี้ (14 ก.ย.) ว่า ปัจจุบันมีการจ่ายเงินเดือน เดือนละหน แต่การแบ่งจ่าย 2 รอบจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระสำหรับคนที่มีหนี้สิน สามารถจ่ายหนี้สินคืนได้เร็วขึ้น คนที่เป็นหนี้ก็สามารถหักจ่ายเป็น 2 งวดได้ และสามารถจัดสรรได้ ซึ่งความจริงแล้วมีบางคนบอกว่าเป็นเรื่องของกระแสเงินสดที่รัฐบาลมีปัญหา แต่ความจริงไม่ใช่เลย หากแบ่งจ่ายสองรอบทีละครึ่งเดือนทุกวันที่ 15 และสิ้นเดือน ส่วนถ้าใครไม่มีหนี้ ก็สามารถนำเงินไปลงทุน ทำประโยชน์อื่นหรือฝากธนาคารได้

“การเสนอทางเลือกใหม่ มีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ แต่รัฐบาลบริหารจัดการประเทศโดยที่มีขีดงบประมาณจำกัด เราคำนึงถึงทุกๆ มิติของการออกนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ อะไรที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ ซึ่งตรงนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่เป็นโปรแกรมใหม่เท่านั้นเองว่า จะจ่ายเงินเมื่อไหร่อย่างไร โดยคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังด้วยเหมือนกัน มีหลายคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการชั้นผู้น้อยที่เพิ่งเข้ามา ก็อาจจะมีปัญหาภาระด้านการเงิน ที่อาจจะต้องแบ่งจ่าย ชักหน้าไม่ถึงหลังเท่านั้นเอง และทางกรมบัญชีกลางก็จะทำออปชั่นให้เลือกว่าจะเอาแบบไหน ขอให้ใจเย็นนิดนึง”

นายกรัฐมนตรี ยืนยันด้วยว่า แนวคิดดังกล่าวได้สอบถามข้าราชการในทุกระดับ และคาดหวังว่า บริษัทต่างๆ อาจจะนำไปเป็นทางเลือก ขอใช้คำว่า ทางเลือกนี้เป็นทางเลือกที่ดี

ส่วนที่บางคนบอกว่าเป็นเรื่องของปัญหากระแสเงินสดของรัฐบาลนั้น นายเศรษฐา ยืนยันว่า ไม่ใช่ความจริง

ทั้งนี้ หลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ออกหนาหู นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลพร้อมที่จะปรับแนวทางเลือกหรือไม่อย่างไร

“เป็นทางเลือกคือแบ่งจ่ายสองหน หรือจ่ายทีเดียวก็ได้ หากใครไม่ชอบก็ใช้อย่างเดียวก็ได้ หรือใครอยากจะจ่ายสองหนก็ได้ มีแต่ดีขึ้นกับเสมอตัว ถ้าใครไม่ชอบก็เอาแบบเก่า” นายกฯ เศรษฐา กล่าวและว่า

ส่วนข้อกังวลเรื่องการจ่ายหนี้สินครู นายเศรษฐา ยืนยันว่า สามารถแบ่งจ่ายเป็น 2 รอบได้ และสามารถพูดคุยกับสถาบันการเงินได้ และเชื่อว่าสถาบันการเงินสามารถทำได้ เพราะต้องการแค่หนี้คืน โดยจะแบ่งจ่ายอย่างไรก็ได้ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนทราบดีว่า ประชาชนประสบปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องกระแสเงินสด ซึ่งเราก็คิดให้และทำมาให้ ส่วนเรื่องผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั้นก็เป็นแผนระยะยาวของเรา หากมีความพร้อมก็จะแถลงอีกครั้ง

เรื่องการเพิ่มผลตอบแทนของข้าราชการนั้นย นายกฯ กล่าวว่า เป็นแผนระยะยาวที่จะต้องดูในองค์รวมทั้งหมดของจำนวนข้าราชการที่เกษียณ และข้าราชการที่เข้ามาใหม่ ซึ่งหากมีความพร้อมจะแถลงให้ทราบอีกครั้ง เพราะเรื่องปากท้องของข้าราชการ เป็นเรื่องที่อยู่ในใจของคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว แต่เกรงว่าหากพูดอะไรไปก่อน อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ขอรอให้พร้อม และจะดำเนินการให้

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กรมบัญชีกลางจะต้องไปปรับระบบรองรับ พร้อมกับหารือร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆ ที่เป็นเจ้าหนี้เงินกู้ของข้าราชการ เพื่อหาแนวทางการแบ่งจ่ายหนี้ ให้สอดคล้องกับการจ่ายเงินเดือนดังกล่าว โดยปัจจุบันข้าราชการในระบบมีอยู่ราว 2 ล้านคน