นายกฯ สั่งจัดหนัก “คานถล่มพระราม 2” ดำเนินคดีแพ่ง “บริษัทรับเหมา” ส่วน “ที่ปรึกษาโครงการ” โดนอาญา-ยึดใบอนุญาต ลั่นแม้ไม่เกิดในรัฐบาลนี้ แต่ก็รับผิดชอบ กำชับเจ้าหน้าที่ “อย่าปล่อยไหล” ต้องจริงจังแก้ปัญหาเด็ดขาด โยน “ดีเอสไอ” รับไม้สอบต่อ! ด้าน “สุริยะ” ย้ำมาตรการสมุดพก ถ้าทำไม่ได้ บริษัทติด “แบล็กลิสต์” ห้ามประมูลงาน 2 ปี หมดอนาคตแน่
เมื่อวันที่ 17 มี.ค.68 ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง เรื่องมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างถนนและเส้นทางคมนาคม โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม, นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม, นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง, นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท, นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง, นายวิทยา พันธุ์มงคล รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) , นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เข้าร่วม
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เราจะมาพูดคุยในเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา จากกรณีอุบัติเหตุโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก
“จริงๆ แล้วเรื่องของการก่อสร้างที่พระราม 2 และทางด่วนพระราม 3 ถึงแม้จะไม่ได้ลงนามในรัฐบาลของเรา แต่รัฐบาลก็รับผิดชอบเรื่องนี้ต่อเนื่อง และสิ่งที่เกิดขึ้นสร้างปัญหาและเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แอคชั่นแต่ละครั้งที่ออกไป อยากให้มีสาระสำคัญมากกว่านี้ เพราะฉะนั้นในเรื่องที่เกิดขึ้นจะต้องขอความร่วมมือให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องและกระทรวงคมนาคมด้วย อย่างบางทีบริษัทใหญ่ๆ รับเหมา มีการรับเหมาบริษัทเล็กด้วย ไม่แน่ใจว่ามีการดำเนินการที่เหมาะสมหรือไม่ ในบริษัทเหล่านี้ที่เข้ามาทำ ฉะนั้นก็อยากให้เกิดความรับผิดชอบ และขอให้มีความรับผิดชอบทางแพ่ง ขอให้ไปดำเนินการในเรื่องนี้” นายกฯ กล่าวและว่า
อีกอย่างในเรื่องที่ปรึกษาของโครงการ ผู้รับผิดชอบในวิชาชีพ เราต้องดูด้วยว่าการทำโครงการนี้ในกระบวนการต่างๆ ได้ละเลยหรือไม่ และควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามหลักการ ข้อกำหนดต่างๆ เป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ ต้องเกิดความรับผิดชอบทางอาญาด้วย อันนี้ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน แบ่งเรื่องเลยว่าอย่างไร และเรื่องของที่ปรึกษาที่เกิดปัญหาขณะนี้ ต้องดูด้วยว่าปัญหาซับซ้อนแค่ไหนมาอย่างไร และต้องถึงขั้นยึดใบอนุญาตหรือไม่ ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และคิดเลยว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะมีผู้รับผิดชอบในด้านไหนบ้าง


แน่นอนว่ารองนายกฯ ตั้งใจอยู่แล้วว่าในส่วนของโครงการพระราม 2 จะต้องเสร็จเรียบร้อย แต่อันนั้นคือเรื่องหนึ่ง ซึ่งเรายังทำอยู่แน่นอน แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ปัญหาที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดการเสียชีวิตของคน มันไม่ควรจะเกิด ฉะนั้นจะต้องชัดเจนในเรื่องของความรับผิดชอบต่างๆ ขอให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
และอีกเรื่องสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบนี้ ไม่แน่ใจว่าจะต้องดูรายละเอียดของการสอบสวนด้วยว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องฝากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนต่อในเรื่องนี้ และขอให้คำแนะนำได้เลย เผื่อจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเราต้องขอให้ชัดเจนขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นหากเกิดขึ้นในอนาคตอีกไม่อยากให้ปล่อยผ่านไป และเกิดการรับผิดชอบที่เป็นครั้งๆ อยากให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องจริงจังในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และฝากดูเรื่องของการจราจร เพราะได้ยินมาว่าแถวนั้นรถติดมาก และคนแถวนั้นน่าจะมีปัญหาเยอะ ขอให้ดูเรื่องดังกล่าวด้วย รวมถึงเรื่องของความปลอดภัยด้วย
ด้าน นายสุริยะ กล่าวว่า ปัญหาด้านความปลอดภัยที่เกิดขึ้นนั้น ตนสั่งการให้อธิบดีกรมทางหลวงซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ ให้ดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวดกับผู้รับเหมาก่อสร้าง ส่วนระดับกระทรวงตนได้เชิญผู้รับเหมามาเน้นย้ำในเรื่องนี้ว่าการเสียชีวิตเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่มันก็ยังเกิด “ตนจึงมีมาตรการเรื่องสมุดพก เพื่อตรวจสอบการทำงานของผู้รับเหมา และให้มีการจดบันทึกว่ามีอุบัติเหตุกี่ครั้งและหากมีการเสียชีวิต จะมีมาตรการโดยประสานกับกรมบัญชีกลาง เพื่อดูว่าจะสามารถออกแบล็กลิสต์ ห้ามบริษัทร่วมการประมูลงานในช่วง 1-2 ปี ซึ่งเมื่อมีมาตรการเช่นนี้ ก็เชื่อว่า หากบริษัทรับเหมาทำไม่ได้ ตัวเขาก็หมดอนาคต เครื่องมือที่มีก็ใช้ไม่ได้ ขาดรายได้จึงเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะได้ผล” นายสุริยะ กล่าว