“วุฒิสภา” โหวตสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “นันทนา” ชงญัตติด่วน จี้ชะลอไปก่อน หวั่น “เป็นโมฆะ” จนกว่า “ดีเอสไอ” สอบคดีฮั้ว สว.เสร็จสิ้น “บิ๊กเกรียง” ฮึ่่ม! เคาะคว่ำญัตติ “สว.พันธุ์ใหม่-อิสระ” อวยฉ่ำ “สิริพรรณ-ชาตรี” เหมาะสมนั่ง ตลก.รธน. “สภาสูง” แตะเบรกหัวทิ่ม “ลงมติลับ” หวดร่วงแพ็คคู่ ส่งผลให้ “นครินทร์-ปัญญา” อยู่ต่อ เริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ คาดใช้เวลา 4-5 เดือน
ที่รัฐสภา วันนี้ (18 มี.ค.) ในการประชุมวุฒิสภา มีวาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก
ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระดังกล่าว น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มพันธุ์ใหม่ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ให้ที่ประชุมวุฒิสภาชะลอการลงมติดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้ สว.บางส่วน ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบกรณีฮั้วเลือก สว. ปี 2567 ข้อหาฟอกเงิน หากดึงดันลงมติเห็นชอบอาจมีปัญหา ส่งผลต่อการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ “เป็นโมฆะ” ควรชะลอลงมติ จนกว่าการตรวจสอบ สว.จะสิ้นสงสัย
ขณะที่ พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา สว. โต้แย้งว่าเป็นหน้าที่ สว. ต้องลงมติ การชะลอลงมติไม่ถูกต้อง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบวาระ โดย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม วินิจฉัยญัตติด่วนด้วยวาจาดังกล่าว “ไม่สามารถปฏิบัติได้” ขอให้ดำเนินการต่อไป แต่ น.ส.นันทนา ไม่ยอม ขอให้ที่ประชุมลงมติญัตติด่วน จนเกิดการโต้แย้งอย่างดุเดือด แต่ พล.อ.เกรียงไกร ยืนยันให้ดำเนินการตามวาระต่อไป
จากนั้นเข้าสู่วาระการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็น สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่หลายคน แสดงความเห็นสนับสนุน นางสิริพรรณ และนายชาตรี เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย, น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ, นางอังคณา นีละไพจิตร, น.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการประชุมลับให้ สว. แสดงความคิดเห็นและซักถามต่อคณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในส่วนข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยได้
ภายหลังการประชุมลับเสร็จสิ้น ที่ประชุมได้ใช้วิธี “ลงคะแนนลับ” ปรากฏว่า นางสิริพรรณ ได้คะแนนเสียงเห็นชอบ 43 ไม่เห็นชอบ 136 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน 1 ขณะที่นายชาตรี ได้คะแนนเสียงเห็นชอบ 47 ไม่เห็นชอบ 115 งดออกเสียง 22 ไม่ลงคะแนน 3
จึงถือว่านางสิริพรรณ และนายชาตรี ไม่ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะได้คะแนน “เห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 199 คน คือ น้อยกว่า 100 คะแนน
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้ลงมติไม่ให้เปิดเผยบันทึกการประชุม จำนวน 5 ครั้ง และรายงานลับของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 147 ไม่เห็นด้วย 33 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนนเสียง 1
ทั้งนี้ จากการที่ สว. “ไม่ให้ความเห็นชอบ” บุคคลทั้ง 2 รายดังกล่าวเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งครบวาระตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.2567 และนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งครบวาระตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.2567 ต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่เข้ารับหน้าที่แทน ซึ่งคาดดว่ากระบวนการสรรหา จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-5 เดือน