“ศาลปกครองกลาง” สั่งกรมการจัดหางานชี้แจงกรณีออก TOR กำหนดสเปค “บริษัทประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว” ตามมติ ครม. 24 ก.ย.67 กลุ่มบริษัทประกันรายเล็กไม่ทน! ถูกกีดกั้น ขอศาลเมตตาคุ้มครองชั่วคราว–ยกเลิกเงื่อนไขเอื้อ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ คว้างาน 5 พันล้าน ชี้ 2 บริษัทรับประกันแรงงาน 3 ล้านชีวิตไม่ทัน จะเกิดความเสียหายต่อประเทศ และผู้ประกอบการ
ความคืบหน้ากรณีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กำหนดเงื่อนไขคัดเลือกบริษัทรับทำประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวใหม่ วงเงินสูงกว่า 5 พันล้านบาท โดยกำหนดคุณสมบัติ 13 ประการ ซึ่งมีลักษณ์ไม่เปิดกว้าง ส่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเพียง 2 ราย จาก 17 รายนั้น
ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2567 กรมการจัดหางาน มีหนังสือประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทประกันภัย ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยที่จะรับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ก.ย.67 ระบุว่าหากบริษัทมีคุณสมบัติและเงื่อนไขตามที่กำหนด 13 ประการ และมีความประสงค์จะเข้าร่วมการดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ขอให้แจ้งกรมการจัดหางานทราบภายในวันที่ 19 พ.ย.67 เพื่ออนุญาตให้เชื่อมโยงข้อมูลหลักฐานการคุณสมบัติทั้ง 13 ประการตามมติ ครม. มีดังนี้
1.ต้องเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย
2.ต้องเป็นบริษัทประกันภัยที่ไม่ขาตทุนติดต่อกันเกิน 3 ปี
3.มีช่องทางการซื้อประกันภัยและติดต่อได้สะดวกรวดเร็ว
4. สามารถตรวจสอบการปลอมแปลงกรมธรรม์ประกันภัย โดยการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบของกรมการจัดหางาน
5.ในจังหวัดที่คนต่างต้าวทำงานสามารถเข้ารับการรักษาได้ โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน
6.ต้องมีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครอง 2 ระยะ ได้แก่ 6 เดือน และ 1 ปี
7.ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีงบแสดงฐานะการเงินปี 2566 ที่มีการรับรองผลกำไรสุทธิแล้วต้องแสดงค่าเป็นบวก 1 ปีสุดท้ายก่อนวันยื่นข้อเสนอ
8.กรมธรรม์ประกันภัยจะต้องมีผลให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวภายหลังจากบริษัทประกันภัยอนุมัติกรมธรรม์ประกันภัยทันที
9.ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเต็มจำนวนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท
10.ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวน ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท
11.ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (CAR RATIO) ไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566
12. ผู้ยื่นข้อเสนอห้ามดำเนินการลดเบี้ยประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยเกินจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด
และ 13.คนต่างด้าวจะต้องได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ
โดยตัวแทนบริษัทประกันภัยกลุ่มหนึ่ง ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบข้าราชการกรมการจัดหางานออกหลักเกณฑ์เอื้อประโยชน์บริษัทประกันภัยบางบริษัท ให้มีสิทธิเข้ารับการประกันสุขภาพของคนต่างด้าว และกีดกันบริษัทประกันภัยอื่นๆ และยังได้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้คุ้มครองชั่วคราว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค.68 รายข่าวจากกรมการจัดหางาน ระบุว่า ศาลปกครองกลางได้รับฟ้องคดีจากกลุ่มบริษัทประกันภัยที่ถูกกีดกั้นไม่ให้เข้ารับงานประกันแรงงานต่างด้าวไว้พิจารณา โดยผู้ร้องขอให้เพิกถอนกฎที่กรมการจัดหางานประกาศกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้มีสิทธิ์รับประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ตามมติครม.วันที่ 24 ก.ย.67 ซึ่งฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย โดยมีข้อมูลทางลับว่า 3 บริษัทประกันยักษ์ใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูล และรับประกันสุขภาพจำนวน 5 พันล้านบาท
แหล่งข่าวจากกรมการจัดหางาน ยอมรับว่า ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้กรมการจัดหางานชี้แจงตามคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งมีการขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ซึ่งกรมการจัดหางานได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ รง ๐๓๐๓.๗/๕๖๙๔๒ ลงวันที่ 20 ก.พ.2568 ชี้แจงกรณีดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การกำหนดคุณสมบัติ 13 ประการ ส่อที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนยักษ์ใหญ่ 2-3 รายเท่านั้น ซึ่งพิจาณาจากข้อกำหนดเรื่องทรัพย์สินรวมที่ต้องมีทรัพย์สินรวม ณ สิ้นปี 2566 จำนวนไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนความเพียงพอของการดำรงเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (Car Ratio) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 200 ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งทำให้เหลือบริษัทประกันภัยที่สามารถเข้าร่วมประกันภัยเพียง 2 บริษัท ซึ่งจะส่งผลเสียต่อประเทศ หากนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้ จะทำให้แรงงานต่างด้าว และนายจ้าง หรือผู้ประกอบการ เกิดความสับสนและยุ่งยากจนไม่สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานได้ทัน ขณะที่ตัวเลขการทะเบียนแรงงานต่างด้าว ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน โดยมีตัวเลขมูลค่าวงเงินประกันที่จะเกิดขึ้นประมาณ 5 พันล้านบาท
