ไม่ทันไร! “สภาหมื่นล้าน” หลังใช้ไปซ่อมไป ทั้งน้ำรั่ว-ท่อแตก-ฝ้าเพดานถล่ม เตรียมรีโนเวทครั้งใหญ่ ทุ่มงบ 150 ล้าน เร่งเคาะหา “ผู้รับเหมา” สร้างลานจอดรถเฟส 2 รองรับ 3,000 คัน พร้อมปรับภูมิทัศน์ใหม่หมด ปิดตำนานสระมรกต ถมสร้างห้องสมุด-ห้องรับรอง อ้างเกิดน้ำเน่า แหล่งเพาะพันธุ์ยุง-เสี่ยงไข้เลือกออก อึ้ง! “ฟาสต์บิดดิ้ง” แจงกรอบต้องได้ผู้รับเหมาภายใน 30 มี.ค.นี้ เปิดทางสะดวกกลุ่มทุน ปรับโฉมใหม่ไฉไลกว่าเดิม “ร้านค้า-คาเฟ่-ร้านอาหาร-สะดวกซื้อ” มาครบครัน
ที่รัฐสภา วันที่ 21 มี.ค. นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เปิดเผยถึงการปรับปรุงอาคารรัฐสภาครั้งใหญ่ ว่า โครงการก่อสร้างลานจอดรถใต้ดินอาคารรัฐสภาเฟส 2 ฝั่งถนนสามเสน เพื่อแก้ปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ ขณะนี้สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดให้มีประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนไม่ทราบในรายละเอียดว่ามีเอกชนรายใดประมูลบ้าง แต่ตามกรอบเวลาจะต้องให้ได้ผู้รับเหมาภายในวันที่ 30 มี.ค. เนื่องจากมีการกำหนดไว้ให้งบประมาณปี 2569 แล้ว ซึ่งตนมั่นใจว่าหากการก่อสร้างสำเร็จจะรองรับรถได้ถึง 3,000 คัน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารรัฐสภาอีกหลายจุด เช่น ห้องตอบกระทู้แยกเฉพาะที่ปัจจุบันมีขนาดเล็กแออัด ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน จึงจะมีการย้ายไปในส่วนอื่นที่ใหญ่ขึ้น สะดวกขึ้น อีกทั้งจะย้ายห้องร้องทุกข์ของประชาชน ที่ปัจจุบันอยู่บนชั้น 10 ของอาคารรัฐสภา ลงมาอยู่ชั้น 1 เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนที่มีเรื่องร้องเรียน อีกทั้งจะเปิดให้มีร้านอาหารชั้นนำรวมถึงร้านกาแฟเข้ามาให้บริหาร อาทิ ร้านค้าสะดวกซื้อเจ้าดัง ร้านกาแฟอเมซอน ร้านกาแฟพันธุ์ไทย เพื่อให้ สส. และข้าราชการมีตัวเลือกในการบริโภคมากขึ้น ส่วนโรงอาหารที่มีอยู่ในปัจจุบันจะย้ายลงไปอยู่ชั้น B2 และจะมีการจัดประมูลร้านใหม่ทั้งหมด

“รวมถึงจะปรับสภาพสระมรกตให้มีการใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่นห้องสมุด ห้องรับรอง ห้องพักตามอัธยาศัย โดยจะมีการล้อมกระจก ตกแต่งภูมิทัศน์ให้สวยงาม เนื่องจากมีการร้องเรียนปัญหาน้ำเน่า เกิดยุงลายซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นพาหะโรคไข้เลือดออก และยังมีผู้เข้าชมสภาฯ เดินตกน้ำบ่อยครั้ง”
บางจุดมีการรั่วซึมทำให้เกิดโพรงอยู่ใต้พื้นไม้กระดานสร้างความไม่ปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งาน จึงเห็นควรให้สูบน้ำออกและถมที่ปูพื้นใหม่ โดยตั้งงบประมาณไว้ 150 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีการปรับภูมิทัศน์ด้านอื่นๆ อาทิ ต้นไม้ที่ยืนต้นตายนั้น จะมีการนำออกไปและหาพันธุ์ไม้ใหม่ที่เข้ากับสภาพแวดล้อมมาปลูกแทน