“ธนกร” ติง “รังสิมันต์” อย่าอ้างนิติสงคราม หลัง ป.ป.ช.จ่อฟัน “44 สส.อดีตก้าวไกล” เสนอแก้ ม.112 ชี้ควรแยกแยะ หากผิดต้องยอมรับ! ขออย่าสร้างดราม่าเบี่ยงประเด็น หวังเรียกคะแนนสงสารกดดันองค์กรอิสระ แนะทำตัวเป็นแบบอย่าง สส.ที่ดี เชื่อทุกอย่างยึดตามหลักฐาน-เจตนา
นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รองหัวหน้าพรรค และ สส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา อดีต 44 สส.พรรคก้าวไกล กระทำการจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคประชาชน 1 ใน 44 อดีต สส.พรรคก้าวไกล ออกมาพูดว่า ป.ป.ช. พยายามที่จะใช้นิติสงครามเร่งรัดเอาผิด ว่า นายรังสิมันต์ ต้องแยกแยะเรื่องหน้าที่ของฝ่ายค้านในสภาที่ต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ฝ่ายค้านจะต้องทำอยู่แล้วตามบทบาทหน้าที่ปกติ และควรจะแยกเรื่องการกระทำกับหน้าที่ ออกจากกัน สิ่งที่เป็นหน้าที่ก็ต้องทำ ส่วนความผิดหากเกิดขึ้นก็ต้องรับรับผิดชอบตามกฎหมาย การเป็น สส.ไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้ แต่ต้องเคารพกฎหมายและเป็นแบบอย่างให้กับประชาชนด้วย
เมื่อถามว่า การออกมาให้ข่าวของเลขาฯ ป.ป.ช. ถูกมองว่าต้องการทำลายสมาธิฝ่ายค้านในช่วงที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับคำร้องเรื่องตั้งแต่ปี 2567 ต่อเนื่องจากคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ที่หาเสียงเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากนั้นดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อคณะไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหา และให้เวลาผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงข้อเท็จจริงตามกระบวนการ
ทั้งนี้ การที่นายรังสิมันต์ให้สัมภาษณ์สื่อ ในทำนองที่ว่า ป.ป.ช.ความพยายามสกัดพรรคประชาชนไม่ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลนั้น ตนมองว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและจงใจโยนความผิดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ถูกสังคมกดดัน มอง ป.ป.ช.ไปในทางที่ไม่ให้ความยุติธรรม เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ตนมั่นใจว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะให้ความเป็นธรรมกับทุกคดี โดยยึดจากข้อเท็จจริงพยานหลักฐานและเจตนาประกอบในสำนวน หากไม่ผิดก็ไม่สามารถที่จะให้บุคคลใดรับโทษได้ จึงขอให้นายรังสิมันต์ ให้ความเป็นธรรมกับ ป.ป.ช.ด้วย เหมือนอย่างที่นายรังสิมันต์ ได้เรียกร้องหาความยุติธรรมให้กับตนเองและ สส.ในพรรค
“อย่าเหมารวมการทำหน้าที่ของ สส. เพราะเป็นสิ่งที่ควรต้องพึงปฏิบัติในสภาอยู่แล้ว และต้องแยกส่วนเรื่องคดีหรือการกระทำผิดหรือไม่นั้น ให้มีการชี้แจงข้อกล่าวหาตามขั้นตอนกระบวนการของกฎหมาย ไม่ควรสร้างวาทกรรมเรียกร้องความสงสารจากสังคม เพื่อมุ่งไปกดดันการทำหน้าที่ตรวจสอบของ ป.ป.ช. ซึ่งก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับองค์กรอิสระด้วย และไม่ควรเบี่ยงประเด็นสร้างความสับสนและเข้าใจผิดแก่ประชาชนในสังคม หากท้ายที่สุดผลของการวินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไร นายรังสิมันต์และพวกก็ต้องยอมรับ จึงจะถือว่าเป็นแบบอย่างของ สส.ที่ดี ที่ปฏิบัติตามกฎหมาย อย่าอ้างคำว่านิติสงครามเลย เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่ที่เจตนาและหลักฐานข้อเท็จจริง” นายธนกร ระบุ