Home FeatureSpotlight ชำแหละซีอีโอเก๊ตั้ง “บริษัทอิศราไทยเพรสฯ”

ชำแหละซีอีโอเก๊ตั้ง “บริษัทอิศราไทยเพรสฯ”

by admin

“ไม่ละอายใจหรือที่เอาชื่ออิศรามาทำมาหากิน”

พาดหัวในคอลัมน์ “ราชดำเนินอเวนิว” แนวหน้าออนไลน์ โดย “สำเริง คำพะอุ” เป็นคำถามที่บ่งบอกถึงความอัดอั้นตันใจที่พรั่งพรูออกมาจากใจของนักหนังสือพิมพ์อาวุโส และนักเขียนที่มีผลงานมากมาย ชวนให้เพื่อนพี่น้องวงการสื่อมวลต่างนำไปพินิจตริตรองอย่างกว้างขวาง

……………..

นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่คลื่นลมจากหลักสี่…ปุจฉาถึงเหตุผลกลในความหาญกล้าก่อตั้งบริษัทอิศราไทย เพรส เดเวลอปเมนต์ จำกัด เพื่อทำมาค้าขายนั้น มีอะไรในก่อไผ่หรือไม่???

“สำเริง คำพะอุ” ตั้งคำถามถึงการจัดตั้งบริษัทอิศราฯ ไว้หลายประเด็น พร้อมกับปรารภถึงปูชนียบุคคลของคนหนังสือพิมพ์ และนักเขียน “อิศรา อมันตกุล” ที่มีจิตวิญญาณ วัตรปฏิบัติงดงาม ซื่อสัตย์ สุจริต ทระนง มั่นหมายในวิชาชีพ และไม่ยอมก้มหัวให้กับอวิชชาฝ่ายต่ำ หาไม่แล้วนักข่าวผู้ดำรงตนเยี่ยงนั้น ก็ไม่ต่างจาก “คนเชียร์แขก” ในสถานเริงรมย์อาบอบนวด

อีกประเด็นข้อสงสัย “สำเริง” เห็นว่า จากบริบทหน้าที่ของมูลนิธิอิศราฯ นั้นก็เป็นไปด้วยดี และคงจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถตั้งมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ให้การศึกษา ให้ความรู้ แก่บรรดานักข่าวทั้งหลาย ซึ่งแม้ว่าจะผ่านการศึกษาจาก คณะวารสารศาสตร์ นิเทศศาสตร์ หรือวิชาการหนังสือพิมพ์ จากสถาบันใดๆก็ตาม ก็คงจะยังไม่พอ เพราะทุกวันนี้ เสียงสะท้อนของประชาชนทั้งหลาย ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อสื่อมวลชนทั้งหลายหนาหูยิ่งขึ้นกว่าสมัยที่ยังไม่มีการสอน การอบรม

ทำไมต้องตั้งบริษัท อิศราฯ ขึ้นมาอีก เพื่อให้จับจ่ายใช้สอยง่ายขึ้น หรือเพื่อแสวงหากำไร ท่านประธานกรรมการ กรรมการมูลนิธิอิศรา เห็นดีเห็นงามด้วยหรือไม่ ?

ที่สำคัญการใช้สถานที่ คือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ เป็นที่ทำการของบริษัทนั้น  ผมเชื่อว่า จิตวิญาณ “อิศรา อมันตกุล” จะต้องไม่เห็นดีเห็นงามด้วยอย่างแน่นอน

คำถาม “สำเริง คำพะอุ” มิได้หยุดเพียงแค่นั้น หากแต่เขายังเขียนลงในคอลัมน์ราชดำเนินอเวนิวอีกครั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 มีเนื้อหาว่าได้รับความสนใจจากเพื่อนสนิทมิตรสหาย หนึ่งในนั้นคือ “เกษม อัชฌาสัย” เพื่อนร่วมชายคาสยามรัฐเมื่อ 30 ปีที่แล้วว่า …เรื่องอย่างนี้….เกิดขึ้นได้อย่างไร?

นอกจากนี้ยังมีพี่น้องที่จบหลักสูตรผู้บริหารสื่อมวลชนระดับสูง (บสส.) ซึ่งเป็นผลผลิตของสถาบันอิศรา และมูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หลายรุ่นพากันสอบถามถึงเรื่อง “อิศราไทยเพรส” อึงอื้อ นัยว่าเกิดอะไรคิด คิดได้อย่างไร???

“ไทยไทม์” จะพาท่านผู้อ่านไขข้อสงสัย รวมถึงเหตุผลซีอีโออิศราฯ ที่กว่าจะรวบรวมถ้อยคำในการเขียนข่าว เพื่อแจกแจงให้สังคมคลายข้อกังวลสงสัย ก็ใช้เวลานานกว่า 1 สัปดาห์ทีเดียว

วันถัดมาสำนักข่าวอิศราโพสข่าวลงเว็บไซต์ www.isranews.org เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 มีสาระสำคัญกล่าวคือ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดตั้งบริษัท อิศราฯ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ไม่แสวงหากำไร เพื่อความคล่องตัวในการบริหาร และสิทธิประโยชน์ทางภาษี

“ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา ในฐานะ 1 ใน 3 กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท อิศรา ไทยเพรส เดเวลอปเมนท์ จำกัด ชี้แจงถึงเหตุผลในการก่อตั้งบริษัทอิศราฯ ว่า มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นโดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์หลักในการจัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่บุคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชนและเผยแพร่ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะผ่านสำนักข่าวอิศรา

“ประสงค์” กล่าวว่า ในการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการดังกล่าว ทางสถาบันต้องจัดหาทุนสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ อาทิ การขอทุนจากองค์กรต่างๆ การรับบริจาค การหาโฆษณา หรือแม้แต่การรับบริการจัดฝึกอบรมทักษะการสื่อสารให้แก่เจ้าหน้าที่องค์กรต่างๆ ซึ่งรายได้จากการรับบริการหรือค่าโฆษณาต้องเสียภาษีนิติบุคคลตามปกติ ซึ่งบางครั้งมากกว่าบริษัทจำกัดทั่วไป

“เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและสิทธิประโยชน์ด้านภาษีซึ่งสามารถนำเงินส่วนดังกล่าวมาใช้ดำเนินการเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารสถาบันอิศรา จึงมีมติให้จัดตั้งบริษัท อิศราไทยเพรส เดเวลอปเมนท์ จำกัด ขึ้น ตามมาตรา 6 (1) วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ประสงค์จะแบ่งปันกำไรให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น” 

“ไทยไทม์” จับถ้อยแถลงบางส่วนของซีอีโอบริษัทอิศราฯ หลายคนพากันส่ายหน้าด้วยความผิดหวัง นี่หรือเหตุผลในการนำชื่อของ “อิศรา” นักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ และเป็นที่เคารพศรัทธาของคนข่าวและประชาชนทั่วไปมาเป็นเครื่องหมายการค้า และเศร้าเสียใจยิ่งกว่านั้น ก็คือความเข้มขลังของสำนักข่าวอิศราหายไปไหน เพราะการชี้แจงข่าวนี้ผิดแผกไปจากการนำเสนอข่าวจิกกัดชาวบ้านอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

โดยเฉพาะเหตุผลการจัดตั้งบริษัทอิศราฯ ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562ไม่แสวงหากำไรนั้น ซีอีโอประสงค์ อ้างว่า “ มูลนิธิต้องเสียภาษีนิติบุคคลตามปกติ ซึ่งบางครั้งมากกว่าบริษัทจำกัดทั่วไป”

ทำให้เกิดคำถามดังขึ้นมาว่า  เหตุผลข้างต้นนี้ โดยเฉพาะเรี่องภาษีมูลนิธิเสียมากกว่าบริษัททั่วไป มีข้อเท็จจริงประการใด หากเป็นเช่นนั้นจริง สำนักข่าวอิศรา ก็ควรที่นำหลักฐานเอกสารการเสียภาษีของมูลนิธิฯ ที่สูงกว่าบริษัทมาสำแดงให้สังคมคลายความสงสัยก็จะเป็นการดี  

สาระสำคัญของการดิ้นรนก่อตั้งบริษัท อิศราฯ แท้จริงแล้วก็คือ การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี พูดง่ายๆ ก็คือ “ไม่ต้องเสียภาษี” เพื่อจะนำเงินส่วนนี้มาใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มากขึ้น

 ข้อกล่าวอ้างเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือเพื่อความคล่องตัว หลักใหญ่ใจความของเหตุผลการตั้งบริษัท อิศรา “ไทยไทม์” จะเกาะติดเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมเอาใจช่วยให้บริษัท อิศราแปลงร่างเป็นวิสาหกิจชุมนมเพื่อสังคม อย่าได้ซ้ำรอยการรับเงินจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) ก็แล้วกัน!!!

ทว่า ซีอีโอทั้งหลายที่ร่วมหัวจมหางกระทำการในสิ่งนี้ จะต้องตอบสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ว่า บริษัท อิศรามีวัตถุประสงค์อะไรที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคม เข้าหลักเข้าเกณฑ์ราชการอย่างไร มีผลงานประจักษ์ชัดอย่างไร เพราะเท่าที่ศึกษาจากเหตุผลของ “ประสงค์” ก็เป็นคำกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีหลักใดเป็นแก่นสารได้ ว่าบริษัท อิศรามีดีกว่าบริษัทสื่อมวลชนสำนักอื่นๆ หากอิศราทำได้สื่ออื่นก็ทำได้

สำคัญกว่านั้น “อิศรา อมันตกุล” ผู้ที่อยู่ในอ้อมกอดของพระอัลเลาะห์ ท่านคงไม่ยินดีปรีดาใจกับการกระทำของกลุ่มคณะบุคคลเหล่านี้ ที่นำนามของท่านไปทำการค้าขายอย่างแน่นอน

ส่วนสมาคมสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูประถัมภ์ ที่วันนี้แม้จะได้ดรีมทีมมาบริหารองค์กรอันมีสินค้าส่งออกมาจากสำนักข่าวหัวเขียวมาเป็นแม่ทัพใหญ่ ก็ยังคงเป็นยักษ์หลับไหล มิได้สนใจนำพากับการแปลงร่างครั้งประวัติศาสตร์ นำชื่อเสียงของ “อิศรา อมันตกุล” ปูชนียบุคคลวงการนักหนังสือพิมพ์มาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาเงินตรา ละทิ้งอุดมการณ์ ลืมรากเง้า “คนหนังสือพิมพ์” ผู้ทระนงมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี หากไม่นำพาต่อเรื่องราวเหล่านี้ ท่านก็ไม่ต่างไปจาก “คนเชียร์แขก” ดังที่อิศราผู้ล่วงลับให้นิยามไว้.

Related Articles

Leave a Comment