Home FeatureInterview จากเด็กบ๋อย สู่เก้าอี้ผู้ว่าฯ สตง. ‘พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส’

จากเด็กบ๋อย สู่เก้าอี้ผู้ว่าฯ สตง. ‘พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส’

by admin
         ปัญหาทุจริตวันนี้ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และนับวันจะมีการทุจริตที่แยบยลซับซ้อนมากขึ้น มีการปล้นเงียบต่อเงินแผ่นดินทำกันอย่างเป็นขบวนการ ผิดจากแต่ก่อนค่อนข้างมาก กล่าวคือการทุจริตในอดีตนั้นมีลักษณะของการชักหัวคิวแบ่งกำไรจากบริษัทเอกชน คนจีนเรียกว่า “เก๋าเจี๊ยะ” ลูกชิ้นไม้หนึ่ง โยนให้สุนัขกินหนึ่งลูก ก็คือกินเปอร์เซ็นต์จากกำไรของงานที่เอกชนรับ

แต่ปัจจุบันการทุจริตมีการวางแผนเชิงนโยบาย ตั้งแต่ขั้นตอนทำงบประมาณ เขียน TOR ล็อกสเปก ไปจนผลงาน เงินแผ่นดินภาษีของประชาชนถูกใช้จ่ายไปในโครงการที่ไม่ตอบสนองต่อประโยชน์และความต้องการของประชาชน ทำทิ้งทำขว้างเนื้องานไม่ได้คุณภาพที่คู่ควรกับราคา ก่อให้เกิดผลกระทบกับสังคมและประชาชน

ย้อนกลับไปกว่า 60 ปีที่ผ่านมา ย่านชุมชนวัดตึก หรือวัดชัยชนะสงคราม ซึ่งแต่เดิมพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นบ้านของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สงห์ สิงหเสนี) ตัวอาคารเดิมนั้น ส่วนใหญ่เป็นตึก เมื่อถวายที่ดินให้สร้างเป็นวัด ผู้คนจึงนิยมเรียกขานกันว่า “วัดตึก” อยู่บริเวณถนนจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ ไม่ไกลจากนั้นเป็นที่ตั้งของ “วัดสามปลื้ม” หรือวัดจักรวรรดิราชาวาส  ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งการค้าสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีน ที่เรียกว่า “คลองถม” และ “สำเพ็ง”

“พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส” (ชื่อเดิม ติ่งน้ำ แซ่ลี้) อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดใจให้สัมภาษณ์พิเศษกับเราเป็นครั้งแรกถึงเส้นทางชีวิตต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายตั้งแต่เยาว์วัย ด้วยเตี่ยของเขาเป็นชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ ฐานะครอบครัวยากจนต้องดิ้นรนต่อสู้ปากกันตีนถีบ ถูกดูหมิ่นดูแคลนเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และยังถูกตำรวจรีดไถเรียกค่าคุ้มครอง ทว่าแรงกดดันเหล่านั้นกลับกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีเติมเต็มให้เขาเป็นนักต่อสู้กับความอยุติธรรมทั้งปวงอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่

“ผมถูกกระทำมาตั้งแต่เด็กๆ เตี่ยผมเป็นชาวจีนอพยพ ไปต่ออายุใบต่างด้าว เขาเรียกว่า “เจ๊ก” แต่ท่านก็สอนให้ยึดปรัชญาให้อดทนทำมาหากินและต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน บ้านผมอยู่ในชุมชน “ตรอกหัวเม็ด” ตรงข้ามวัดสามปลื้ม ทำมาค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เรียนจบ ป.7 ผลการเรียนก็ไม่สู้จะดีสักเท่าไหร่ ไม่มีเวลาทบทวนบทเรียนทำการบ้าน หรือไปวิ่งเล่นเหมือนเด็กทั่วไปในย่านเดียวกัน ต้องช่วยเตี่ยค้าขายหาบเร่น้ำ “เก๊กฮวย-หล่อฮังก๊วย” เรียกว่าชีวิตลำบากมาตั้งแต่เด็กๆ เลยครับ”

หลังจบ ป.7 สอบเข้า ม.1 ไม่ได้ เพราะเรียนอ่อน ต้องออกมาทำงานรับจ้างเป็นบ๋อยบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งย่านท่าน้ำราชวงศ์ ถูกพวกเสมียนและนายห้างกดขี่ด้อยค่า เห็นเราเป็นตัวตลกเลย บ๋อยสมัยนั้นก็คือ เด็กเดินเอกสารในออฟฟิศ สมัยก่อนเวลาใครจะเรียกใช้ เขาก็กดกระดิ่ง ผมก็คอยดูว่าโต๊ะไหนเรียก พอเดินไปถึงตรงนั้น โต๊ะข้างหลังก็กดกระดิ่งกริ๊งๆ สรุปเขาแกล้งเรียกไปงั้นให้ว่าไปมา เรียก “ไอ้ตี๋” เป็นตัวตลกขบขันไปเลย

         “พิศิษฐ์” เล่าให้เราฟังประหนึ่งว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานมานี่เอง ผมจำได้ว่ามีอยู่วันหนึ่ง หัวหน้าเรียกผมให้นำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งใกล้จะปิดเวลาทำการแล้ว ต้องรีบไปให้ทันก่อนที่แบงก์จะปิด หัวหน้าสั่ง “ไอ้ตี๋” ให้ลงลิฟท์ไปถึงแบงก์ทันเวลา จังหวะที่ผมออกจากลิฟต์ มีชายคนหนึ่งแต่งตัวภูมิฐานขึ้นลิฟท์มาสวนทางขึ้นลิฟต์ พอกลับมาถึงสำนักงาน ชายคนนั้นที่แท้คือนายห้างใหญ่ ก็ชี้หน้าผมว่า อ้าวไอ้นี่มันเป็นบ๋อยหรือ มีสิทธิ์อะไรใช้ลิฟต์ ฝ่าฝืนกฎระเบียบได้อย่างไร หัวหน้าผมก็ไม่ได้ปกป้องอะไรผมเลย ผมรู้สึกอับอายเสียศักดิ์ศรี จึงลาออกจากสำนักงาน
ดังกล่าว และตั้งใจไว้ว่าจะไม่เป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนใดอีกในชีวิตนี้

ระหว่างว่างงานอยู่นั้น “พิศิษฐ์” ตัดสินใจหัดทำมาค้าขาย ไปซื้อกระเป๋ามาเดินขายแถว “สะพานหัน–พาหุรัด” ประเดิมวันแรกโชคไม่เข้าข้างเขาเอาเสียเลย ถูกตำรวจจับยึดของไปโรงพัก (ซึ่งสมัยนั้นสังกัดกรมตำรวจยังไม่ได้แยกมาสังกัดกรุงเทพมหานครเหมือนปัจจุบันนี้) ทั้งที่
คนอื่นยังวางขายอยู่ได้ ต้องตามไปไถ่เสียค่าปรับ 200 บาท แต่ใบเสร็จออก 100 บาท ถามว่าทำไมเจาะจงมาจับผม คำตอบคือ “ลื้อ ไม่รู้ธรรมเนียม ?” ถามว่าทำไมไม่ใช่แค่ปรับ 100 บาทตามใบเสร็จ คำตอบคือ “ลื้อ อยากติดคุกหรือ !” พอนับดูของกลางที่ได้รับคืนก็ไม่ครบ “อย่าหาเรื่องอะไรอีก
รีบไปเดี๋ยวมีเรื่อง !”
 งานนี้ขายหมดก็ยังขาดทุนเข้าเนื้อ จึงต้องเบนเปลี่ยนไปหาบเร่ขายน้ำเก๊กฮวย – หล่อฮังก๊วย หน้าร้านเจ้ากรมเป๋อด้านในวัดสามปลื้ม

การทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ ซ้ำเติมความยากจนข้นแค้นคนหาเช้ากินค่ำ สังคมไม่มีความยุติธรรมเอาเสียเลย ทำอย่างไรจะแก้ไขปัญหาคนขี้โกงให้หมดไปจากบ้านเมืองได้ ???

         “พิศิษฐ์” ตั้งคำถามกับตัวเองไว้อย่างนั้น จึงลุกขึ้นสู้ชีวิต และนี่คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ด้วยคิดว่าเราต้องมีความรู้   จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมอยุติธรรมได้ เขาจึงเดินหน้าศึกษาต่อสมัครสอบเข้าเรียนโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่วัดพระพิเรนทร์จนจบ ม.3 และเรียนต่อสาขาพาณิชยการระดับ ปวช. ต่อระดับ ปวส. ก่อนเข้ารับราชการที่ สตง. และจบระดับปริญญาตรี ในเวลาต่อมา

ชีวิตผมเห็นความอยุติธรรมมาตั้งแต่เด็กๆ เจอการฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่รัฐ กลั่นแกล้งรังแกคนยากจน ครั้งหนึ่งเตี่ยผมหาบเร่หนีตำรวจแต่ถูกกระชากสาแหรกหลุดจากหาบ หม้อน้ำเก๊กฮวยคว่ำเทกระจาย ถ้วยแตกเสียหาย ไม่ต้องขายกันแล้วถูกจับขึ้นโรงพักด้วยข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานอีกกระทงหนึ่ง โดยยึดใบต่างด้าว และถูกขู่ว่าจะส่งกลับเมืองจีน ทำเอาคนทั้งบ้านตกใจเสียน้ำตา ต้องขอร้องผู้ใหญ่จากสมาคมเท่งไฮ้ ไปเจรจายอมเสียค่าปรับ ผมยังจำได้ “ดาบช้าง” ตำรวจที่จับ ทุกเทศกาล สารทจีน ปีใหม่ ตรุษจีน เตี่ยต้องจัดหาเหล้าแม่โขงเตรียมไว้

บ้านผมเคารพ ศรัทธาใน “ซำปอกง” และเจ้าแม่กวนอิม และยังเคารพบูชาเจ้าพ่อกวนอูเทพแห่งความซื่อสัตย์ เตี่ยผมพร่ำสอนอยู่เสมอว่าเราต้องสำนึกว่าเกิดในแผ่นดินภายใต้พระบารมีองค์ในหลวง จึงต้องรู้คุณและตอบแทนคุณแผ่นดิน

เมื่อมีโอกาสเข้ามาทำงานรับใช้บ้านเมืองในสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จนถึงได้รับการคัดสรรให้ทำหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงได้มุ่งมั่นทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตตรงไปตรงมา ทำให้ผู้ที่เสียประโยชน์รับไม่ได้ ถึงขั้นต้องเขียนบทเฉพาะกาล ปิดกั้นในบัญญัติ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีเนื้อหากำหนดมิให้บุคคลที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ สตง. มาลงสมัครได้อีก โดยให้ถือว่าเคยเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตาม พรป.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (แล้วอีกหนึ่งสมัย)

“พิศิษฐ์” เห็นว่าหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ สตง. ต้องตระหนัก จำให้ขึ้นใจ คอยเป็นหลักให้เจ้าหน้าที่ข้าราชการ สตง.ทุกคน คือ เงินแผ่นดิน เป็นเงินภาษีประชาชน เงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด และเราเป็นผู้มีหน้าที่ในการปกป้องดูแลรักษาเงินแผ่นดิน ต้องวางรากฐานการทำงานให้มั่นคงให้ได้ และผมคิดว่ามันเป็นภารกิจสำคัญ ทำให้ผมตัดสินใจที่จะสานต่องานนี้ให้สำเร็จ

“ผมทำงานที่ สตง. มาเกือบ 40 ปีแล้ว จนเสมือนลมหายใจ เมื่อผมยังมีกำลังกาย กำลังใจ ที่สามารถทำงานให้กับบ้านเมือง ให้กับประเทศชาติได้ ตราบที่พอทำงานได้ ผมก็คิดว่าไม่ควรหายใจทิ้งเปล่า พอทำงานให้เป็นประโยชน์ได้บ้างต่อไปก็ต้องทำ อีกทั้งกฎหมายคุณสมบัติตามประกาศ คตง. ที่เปิดรับสมัคร รวมถึงประกาศ คสช. ก็ไม่ได้ห้าม ผมจึงตัดสินใจลงสมัคร ทั้งที่รู้อยู่ว่าเมื่อ พ.ร.ป.การตรวจเงินแผ่นดิน ที่จะประกาศใช้ต่อมา
จะต้องพ้นจากตำแหน่งก็ตาม”

แต่เมื่อมีการหยิบยกกฎหมายมาปิดกั้นเช่นนี้ ก็ทำให้ภารกิจที่ “พิศิษฐ์” วาดหวังไว้เป็นอันต้องยุติลง กระนั้นเขาก็ยังทำหน้าที่ตอบแทนบ้านเมืองด้วยการบทบาทผู้ตรวจเงินแผ่นดินภาคประชาชน เพราะคิดว่ายังมีแรงกายแรงใจ และประสบการณ์รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงที่กัดกินบ้านเมือง โดยทำงานร่วมกับสื่อมวลชนอย่างรายการ “คอลัมน์หมายเลข 7” สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 ลงพื้นที่ขุดคุ้ยการทุจริตในพื้นที่ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง

อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มองว่าปัญหาทุจริตวันนี้ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และนับวันจะมีการทุจริตที่ซับซ้อนมากขึ้น มีการปล้นเงินแผ่นดินเป็นขบวนการ ผิดจากสมัยก่อนค่อนข้างมาก กล่าวคือการทุจริตในอดีตนั้น มีลักษณะของการชักหัวคิวแบ่งกำไรจากบริษัทเอกชน คนจีนเรียกว่า “เก๋าเจี๊ยะ” ลูกชิ้นไม้หนึ่ง โยนให้สุนัขกินหนึ่งลูก ก็คือ กินเปอร์เซ็นต์จากกำไรของงานที่เอกชนรับ แต่ปัจจุบันวางแผนทุจริตเชิงนโยบาย ตั้งแต่ขั้นตอนเขียน TOR ล็อกสเปก เงินแผ่นดินภาษีของประชาชนจำนวนมากถูกใช้จ่ายไปในโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

การทุจริตเชิงนโยบายรุนแรงมาก เพราะหัวหน้าขบวนการทุจริตมีบารมี มีอำนาจสามารถปกป้องคุ้มครองคนโกงที่ร่วมขบวนการให้รอดพ้นจากกลไกกฎหมาย ไม่ต้องติดคุก หลายคดีที่มีการร้องให้องค์กรอิสระตรวจสอบ จนนำไปสู่การฟ้องร้อง สังคมประชาชนเขาตัดสินไปแล้วว่า คดีอย่างนี้ ผู้มีอำนาจวาสนาคือหัวหน้าโจรปล้นเงินแผ่นดิน แต่พอถึงศาล ปรากฏว่าพยานหลักฐานอ่อน ไม่เพียงพอ ก็ยกฟ้องกันไป

“แม้กระบวนการทางกฎหมายจะไม่สามารถจับโจรปล้นชาติปล้นแผ่นดินมาลงโทษได้ แต่คนเหล่านี้ย่อมหนีไม่พ้นกฎแห่งกรรม ใครก่อกรรมทำความชั่วไว้ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมอย่างสาสม” อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวทิ้งท้าย

Related Articles

Leave a Comment