Home Thailand ‘ทนายหน้าหอ’ ปัดเผือกร้อน ‘แม้ว-ฮุนเซน’ ถกพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย

‘ทนายหน้าหอ’ ปัดเผือกร้อน ‘แม้ว-ฮุนเซน’ ถกพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย

by admin

“นพดล” ยันพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ยังยึดตาม MOU 44 ย้ำไทยไม่เสียประโยชน์ เกาะกูดยังเป็นของไทย ปัดข่าว “ทักษิณ-ฮุนเซน” ถกปมพื้นที่ทับซ้อน

เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา นายนพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ เปิดเผยว่า กมธ.ได้ประชุมหารือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (OCA) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจา โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพลังงาน, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย, กรมเอเชียตะวันออก, กรมแผนที่ทหาร, บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาร่วมประชุมคณะ กมธ.การต่างประเทศ

โดยทราบจากกระทรวงการต่างประเทศว่า กรอบเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลได้ขีดตาม MOU 2544 ที่เป็นเครื่องมือนำไปสู่การเจรจา โดยไทยจะไม่เสียประโยชน์ ซึ่งตาม MOU 44 การเจรจาประเด็นเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และเรื่องเขตพัฒนาร่วม จะต้องเจรจาควบคู่กันไป และแยกกันไม่ได้

การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชานั้น เป็นเรื่องของรัฐบาล ที่ต้องกระทำผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมมือด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา หรือเจทีซี ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการเจรจาระหว่างสองประเทศ ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านความมั่นคง และอื่นๆ สามารถเชื่อมั่นได้ว่าหน่วยงานรับผิดชอบจะมุ่งรักษาประโยชน์ของประเทศเป็นหลักและไม่เสียสิทธิด้านเขตแดน ตามที่มีการบิดเบือนในสื่อต่างๆ

โดยในขณะนี้ ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการ JTC จึงยังไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ดังนั้นที่มีการเสนอข่าวว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้หารือประเด็นผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนกับสมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุนเซน จึงไม่เป็นความจริง ในประเด็นเกาะกูดนั้น ประเทศไทยยึดถือว่าเกาะกูดเป็นของไทย เนื่องจาก MOU 44 ไม่ได้ยอมรับเส้นเขตแดนทางทะเลที่ลากโดยกัมพูชา ซึ่งแตกต่างจากเส้นที่ลากโดยไทย ดังนั้นจึงต้องเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลกันต่อไป

“ที่มีการบิดเบือนว่า MOU 44 เป็นการยอมรับเส้นเขตแดนของกัมพูชานั้น จึงไม่เป็นความจริง ตัวแทนหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่างสนับสนุนให้รัฐบาลไทยเจรจากับกัมพูชา เพื่อนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน และหวังลดค่าครองชีพให้ประชาชน ทั้งนี้ ไม่ให้กระทบสิทธิทางด้านเขตแดน และผลการเจรจานั้นจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย” นายนพดล ระบุ

Related Articles

Leave a Comment