ผู้ว่าฯ กทม.ยันพร้อมจ่ายหนี้ “บีทีเอสซี” 1.1 หมื่นล้าน ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ย้ำเคลียร์หนี้ก้อนแรกไปก่อน คาดใช้เวลา 140 วัน ชี้กระทบหลายโครงการ หนักใจ! หาเงินโปะค่าเดินรถส่วนต่างปีละ 6 พันล้าน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้ กทม.จ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถสายสีเขียวกับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีทีเอสซี” ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวนกว่า 11,755 ล้านบาท ว่า กทม.ต้องทำตามคำสั่งศาล โดยในวันที่ 1 ส.ค.นี้ จะมีการประชุมแนวทางการใช้หนี้ เพราะในคำสั่งศาลมีรายละเอียดมากกว่าร้อยหน้า ทั้งนี้ การที่ศาลสั่งมาเป็นเรื่องดี ทำให้มีความชัดเจน กทม.รู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ทำให้ กทม.รู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
- “ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า เรื่องการไม่จ่ายเงินค่าจ้างเดินรถ ไม่ได้เริ่มในสมัยผู้บริหาร กทม.ชุดนี้ แต่เรื่องเกิดขึ้นมาตั้งแต่ผู้บริหาร กทม.ในอดีตแล้ว เมื่อผู้บริหารชุดนี้เข้ามา จะจ่ายเงินก็จ่ายไม่ได้ เพราะเรื่องอยู่ในขั้นตอนของศาล”
สำหรับการจ่ายเงินนั้น มีขั้นตอนทางกฎหมาย เมื่อศาลสั่งมาแล้ว กทม.ก็เคารพ แต่เงินทุกบาทที่จะนำไปจ่าย จะต้องผ่านสภากรุงเทพหานคร ผู้บริหารฯ ไม่สามารถนำเงินสะสมจ่ายขาด ไปจ่ายหนี้ได้ในทันที ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 140 วัน แต่ กทม.จะรีบดำเนินการ เนื่องจากมีเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องคำนึงถึง และเป็นตัวกดดันให้เร่งดำเนินการ
เมื่อถามว่า กทม.จะมีการจ่ายหนี้ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ตามที่ “บีทีเอสซี” เรียกร้องหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า การจ่ายหนี้ ต้องว่าไปตามคำสั่งศาลในคดีแรกก่อน
ส่วนคดีที่ค้างอยู่ในศาล จะต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะมีการจ่ายหนี้อย่างไร โดยจะต้องดำเนินการทีละขั้นตอน และดูฐานะทางการเงินของ กทม.ประกอบด้วย ยืนยันว่า กทม.จะพยายามทำให้ดีที่สุด โดยที่ผ่านมา กทม.ได้มีการจ่ายหนี้ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท ไปแล้ว ดังนั้นเมื่อมีคำสั่งศาลมา จึงต้องดำเนินการหนี้ก้อนแรกก่อน ส่วนหนี้ก้อนอื่นๆ จะต้องพิจารณาและจะทยอยจ่ายให้เอกชนต่อไป
“ค่อนข้างหนักใจ เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบกับประชาชนเป็นอย่างมาก เป็นการใช้เงินจำนวนมหาศาล ส่งผลกระทบต่อโครงการอื่นๆ มากมาย ทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา รวมถึงผลกระทบในระยะยาว เนื่องจากค่าจ้างของส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 8 พันล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท/ปี จึงต้องหาเงินส่วนต่างถึง 6 พันล้าน มาจ่ายสัญญาที่ทำไว้ในอนาคต ถือเป็นเรื่องที่หนักสำหรับ กทม. เนื่องจาก กทม.ได้รับงบประมาณเพียงปีละ 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งการปรับขึ้นค่าโดยสาร ก็ไม่สามารถผลักภาระให้ประชาชนได้ จึงต้องพิจารณาให้ละเอียดครั้ง” นายชัชชาติ กล่าว