Home Thailand เช็คเรตติ้ง!! รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ‘อุ๊งอิ๊ง-พิธา’ ใครโดดเด่น

เช็คเรตติ้ง!! รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ‘อุ๊งอิ๊ง-พิธา’ ใครโดดเด่น

by admin

“สวนดุสิตโพล” เปิดผลสำรวจดัชนีการเมืองไทย เช็คเรตติ้งรัฐบาล-ฝ่ายค้าน!! “อุ๊งอิ๊ง-พิธา” บทบาทใครโดดเด่น ด้านผลงานรัฐบาล โพลชี้คนไทยชื่นชอบ “เงินดิจิทัล 1 หมื่นให้กลุ่มเปราะบาง” ขณะที่ “ฝ่ายค้าน” ผลงานเด่นเรื่องตรวจสอบรัฐบาล

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,249 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 23-30 ส.ค.67 โดยมีตัวชี้วัด 25 ประเด็นที่บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นต่อการเมืองไทยในด้านต่างๆ

สำหรับ “ดัชนีการเมืองไทย” เดือนสิงหาคม 2567 ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 4.46 คะแนน ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ได้ 4.59 คะแนน

ด้านนักการเมืองที่มีบทบาทโดดเด่น

แพทองธาร ชินวัตร 49.73%

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 44.77%

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ 32.35%

เศรษฐา ทวีสิน 28.52%

ศิริกัญญา ตันสกุล 22.88%

อนุทิน ชาญวีรกูล 21.75%

ส่วนผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบ คือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กลุ่มเปราะบาง ร้อยละ 41.44

ด้านผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบ คือ ตรวจสอบรัฐบาล เปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริง ร้อยละ 51.29

น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจดัชนีการเมืองไทยในเดือนสิงหาคม 2567 ภาพรวมคะแนนลดลงจากเดือนก่อนหน้า การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีในช่วงกลางเดือน และการปรับคณะรัฐมนตรีที่ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเท่าที่ควร

ในขณะที่ความนิยมในตัวนายกฯ “แพทองธาร ชินวัตร” และผู้นำฝ่ายค้าน “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” คะแนนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงความสนใจและความคาดหวังที่สูงขึ้นของประชาชนที่มีต่อการทำงานของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ถือเป็นความท้าทายที่ทั้งสองฝ่ายต้องเผชิญในช่วงนี้

ด้าน ผศ.ดร.เอกอนงค์ ศรีสำอางค์ ประธานหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ดัชนีการเมืองไทยในเดือนสิงหาคม 2567 นับว่าเป็นช่วงเวลาที่การเมืองไทยมีความร้อนแรงอย่างมาก ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เนื่องมาจากการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 และการตัดสินให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 14 สิงหาคม 2567

จากประเด็นนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนตามมาคือ ราคาหุ้นในตลาดที่มีแรงกดดันเพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นทางด้านการเมืองทั้งในประเทศและภายนอกประเทศ ความเชื่อมั่นของประชาชนด้านเศรษฐกิจ ความผิดหวังของประชาชนด้านเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่มีแนวโน้มสั่นคลอน กระแสระบอบทักษิณที่อาจจะกลับมา จากการคาดการณ์ของนักวิจารณ์การเมืองต่างๆ และความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล “ครม.อิ๊งค์ 1” ปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์จับมือเพื่อไทย ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คะแนนดัชนีการเมืองไทยลดลง

Related Articles

Leave a Comment