นายกฯ แจงเลื่อนถก “ภาษีทรัมป์” โดนตีกลับให้ทบทวนมาตรการ บอกแม้ไทยเป็นประเทศเล็ก แต่ต้องวิน-วินทั้งสองฝ่าย ชี้ไทยต้องบาลานซ์ 2 ประเทศมหาอำนาจให้ดี รออัปเดทความร่วมมืออาเซียนหลังเยือนกัมพูชา “ขุนคลัง” ไขปมยื้อเจรจาสหรัฐฯ รอดูประเทศอื่น “เจออะไรบ้าง” ย้ำ! รีบเกินไปไม่ดี-ช้าเกินไปไม่ได้ เผยไทยแบ่งทัพส่วนหน้า-ทีมในประเทศ ไม่ปิดช่องขยายเพดานหนี้ พร้อมถก “สคช.-แบงก์ชาติ-สถาบันการเงิน” รองรับผลกระทบ
วันนี้ (22 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุถึงการเลื่อนเจรจากรณีกำแพงภาษีสหรัฐฯ ออกไปจากเดิมวันที่ 23 เม.ย.นี้ โดยยอมรับว่ามีการเลื่อน เนื่องจากประเทศไทยทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องมีการคุยกันในเรื่องของมาตรการของการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ เมื่อส่งทีมล่วงหน้าไป มีสาระสำคัญบางอย่างที่สหรัฐฯ รีเควสกลับมาให้เราทบทวนในเรื่องที่จะไปเจรจา ต่อจากนี้จะมีการนัดกันใหม่อีกครั้ง แต่ในส่วนของรายละเอียดที่ว่า เป็นเรื่องอะไรบ้างนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.คลัง จะชี้แจงต่อไป
เมื่อถามว่าฝ่ายค้านมีข้อเสนอให้รัฐบาลรื้องบประมาณปี 2569 และเห็นด้วยหากรัฐบาลจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน เพื่อรับมือภาษีสหรัฐฯ เรื่องนี้มีความเป็นไปได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า รับฟังทุกความคิดเห็นอยู่แล้ว จะลองนำมาพิจารณาประกอบว่าจะเกิดผลอย่างไรบ้าง ซึ่งต้องคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวด้วย หากระยะยาวมีข้อตกลงหรือการเปลี่ยนแปลงจะเป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ก็จะให้ทีมทบทวนเรื่องนี้อีกที ขอบคุณสำหรับคอมเมนต์ของฝ่ายค้าน
ถามต่อว่ามีโอกาสหรือไม่ที่นายกฯ จะเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเจรจาด้วยตนเอง นายกฯ กล่าวว่า ต้องดูระดับของการคุยกันก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง แต่โดยส่วนตัวพร้อมอยู่แล้วที่จะไปพูดคุยเจรจา
เมื่อถามถึงการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ถือว่าช้าเกินไปหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า อย่างที่บอกจริงๆ เราไม่ได้ช้าเกินไป เนื่องจากสหรัฐฯ ประกาศระยะเวลา 90 วัน ก่อนที่การขึ้นภาษีจะมีผล ซึ่งตอนนี้เราทบทวนและพูดคุยกับทีมเจรจาอย่างไม่เป็นทางการ ว่ามีเรื่องไหนบ้างที่เราจะควรคุยกัน เพราะบางเรื่องเช่นภาษีที่เขาเสียให้เราแพงเกินไป ก็ดูว่าควรจะปรับให้สมเหตุสมผลหรือไม่ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ ซึ่งขณะนี้ทีมทำงานกันอย่างเหน็ดเหนื่อยทุกคน ถ้าถามว่าช้าเกินไปหรือไม่ ไม่ช้าเกินไป

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า หนักใจหรือไม่กับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย นายกฯ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเศรษฐกิจทั่วโลกมันก็ลำบาก ค่อนข้างฝืดเคืองพร้อมๆ กัน ก็เป็นสิ่งที่เราต้องค่อยๆ จัดการด้วยความรอบคอบและต้องมีการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง ถามว่าหนักใจหรือไม่ ทีมทุกคนกำลังทำงานอยู่ไม่ได้ทิ้งไปไหน เรายังอัพเดตและยังมีคนที่อยู่นอก ครม. รวมถึงนักวิชาการต่างๆ ที่เราปรึกษากันอยู่หลายๆ ทาง ซึ่งมีความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน เพราะฉะนั้นคิดว่าเราทำดีที่สุดในสถานการณ์นี้
ขณะที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศจะเป็นไปตามเป้าหรือไม่นั้น น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ก็ยังหวังว่ายังเป็นไปตามเป้าอยู่ นายพิชัยจะได้แถลงรายละเอียดต่อไป
สำหรับการร่วมมือกันของกลุ่มประเทศอาเซียนในการเจรจา มีความคืบหน้าหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า มีการพูดคุยกับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน และมีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการอีกเล็กน้อยในเรื่องการร่วมมือ และการที่ตนจะเดินทางเยือนกัมพูชาวันที่ 23-24 เม.ย.นี้ จะมีการพูดคุยกันด้วย เดี๋ยวจะกลับมาอัปเดต
เมื่อถามว่าการบาลานซ์ของไทยกับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจีนออกมาเตือนว่าหากประเทศใดยอมให้กับสหรัฐฯ มากเกินไปจนกระทบการค้าขายกับจีน ก็อาจจะโดนมาตรการตอบโต้ด้วยเช่นกัน นายกฯ กล่าวว่า เราพูดตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่าการเจรจาของเรากับสหรัฐอเมริกา ถึงแม้เราจะเป็นประเทศเล็กๆ ก็ตาม แต่เราต้องเจรจาให้เหมือนกับว่าให้ประโยชน์เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย เราไม่ได้เจรจาเหมือนกับว่าเราเป็นประเทศเล็กมากต้องยอมทุกอย่าง มันไม่ได้อยู่แล้ว ทุกๆ ประเทศมีความสำคัญเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการเข้าไปคุยต้องมีกระบวนการคิดที่เข้าไปคุย ว่าเราพร้อมจะให้เขาๆ พร้อมจะให้เรา เสนอซึ่งกันและกันแบบนี้ ตนก็ได้คุยกับทีมไป การที่ไปคุยไม่ใช่เทหมดหน้าตัก เพราะผู้ประกอบการกับเกษตรกรที่มีความสัมพันธ์กับจีนก็มีมากเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองประเทศมหาอำนาจ เราก็อยากจะให้เป็นอย่างนั้นต่อไป เพราะฉะนั้นทั้งสองประเทศเราต้องบาลานซ์ให้ดี

ด้าน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ เปิดเผยถึงสาเหตุการเลื่อนเจรจากับสหรัฐฯ เพราะขอรอดูสถานการณ์ก่อน โดยต้องการศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ ไม่อยากไปเจรจา โดยที่ไม่มีการเตรียมตัวให้รอบด้านก่อน โดยในขณะนี้ได้มีการส่งทีมล่วงหน้าไปทำงานร่วมกับคณะทำงานของสหรัฐฯ เพื่อปรับจูนเรื่องต่างๆ ให้เข้าใจตรงกัน
“ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปตลอด เราขออย่าให้เร็วกว่าคนอื่น และอย่าช้ากว่าคนอื่น เร็วไปก็ไม่ดี แล้วถ้าช้ากว่าคนอื่นก็ไม่ดี เหมาะสมที่สุดคือ ดูก่อนหัวขบวนเขาโดนอะไรบ้าง กลางขบวนโดนอะไรบ้าง เราอยู่กลางๆ เกือบท้าย เราจะได้รู้ว่าควรจะทำอย่างไร จริงๆ เขาอยากให้ไป อยากให้ทุกคนไป เพียงแต่จะจัดคิวอย่างไร ส่วนตนอาจต้องละเอียดรอบคอบหน่อย” นายพิชัย กล่าว
ในระหว่างนี้ที่เหลือเวลาอีกประมาณ 70 วัน เชื่อว่าทุกคนร้อนใจ จึงแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนในระดับปฏิบัติการ คือ ส่วนที่อยู่ในสหรัฐฯ นำโดยเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯ ร่วมกับทีมจากประเทศไทย ประสานกับฝ่ายสหรัฐฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน นอกเหนือจากข้อเสนอของฝั่งไทย และ เพื่อให้ทราบในสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการอย่างแท้จริง

“ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเดินทางไปเจรจาในช่วงใด ต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสม เพราะการเจรจาดังกล่าว เหมือนการเจรจาธุรกิจ ตนเองขอใช้ประสบการณ์ส่วนตัว เข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้”
อีกส่วนคือ การทำงานในประเทศไทยระดับบริหาร ที่ต้องติดตามสถานการณ์ กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดผลกระทบ แบ่งเป็น เรื่องการเงิน ต้องหารือกับ แบงก์ชาติ และสถาบันการเงิน ว่าจะแก้ไขอย่างไร
โดยหนึ่งในประเด็นที่คาดว่าสหรัฐฯ มีความกังวล และจะหยิบยกขึ้นพูดคุย คือ เรื่องของค่าเงิน เมื่อสหรัฐฯ ต้องการส่งออก จึงหวังว่าประเทศต่างๆ จะไม่เข้าไปแทรกแซงค่าเงิน ขณะที่อีกเรื่อง คือ การสวมสิทธิส่งออกสินค้า ที่จะต้องหารือหลักเกณฑ์ให้ตรงกันทั้งสองฝ่าย ว่ามีข้อกำหนดวิธีการเงื่อนไขอย่างไร ที่จะชี้วัดว่าสินค้าใดเป็นสินค้าสวมสิทธิ์จากประเทศไทย