สื่อเผย Apple เตรียมย้ายการผลิต iPhone เกือบทั้งหมดจากจีนไป “อินเดีย” ภายในสิ้นปี 2026 หนีความเสี่ยงสงครามภาษี
“สำนักข่าวรอยเตอร์ส” รายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า บริษัท แอปเปิ้ล อิงค์ (Apple) มีแผนจะย้ายการผลิต “iPhone” ส่วนใหญ่ที่วางจำหน่ายในสหรัฐฯ ไปผลิตที่ประเทศอินเดีย ภายในสิ้นปี 2026 และกำลังเร่งดำเนินการตามแผนดังกล่าวเพื่อรับมือกับภาษีนำเข้าที่อาจสูงขึ้นใน “จีน” ซึ่งเป็นฐานการผลิตหลักของบริษัท
ปัจจุบัน แอปเปิ้ลจำหน่าย iPhone ในสหรัฐทั้งหมดมากกว่า 60 ล้านเครื่องต่อปี และประมาณ 80% ของไอโฟนเหล่านี้ล้วนผลิตจากประเทศจีน
รายงานระบุว่า “แอปเปิ้ล” กำลังเจรจาอย่างเร่งด่วนกับ “ฟ็อกซ์คอนน์” (Foxconn) ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่จากไต้หวัน และ “ทาทา” (Tata) ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์การผลิตในอินเดีย เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ทั้งแอปเปิ้ลและฟ็อกซ์คอนน์ยังไม่ตอบกลับการขอให้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ ขณะที่ “ทาทา” ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย พยายามส่งเสริมให้อินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตสมาร์ทโฟน แต่ภาษีนำเข้าชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ยังคงต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการผลิตที่อินเดีย โดยต้นทุนการผลิต iPhone ในอินเดียสูงกว่าในจีน 5-8% โดยในบางกรณีอาจเพิ่มขึ้นถึง 10%
อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความเสี่ยงของสงครามภาษีที่สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน 145% “แอปเปิ้ล” ได้เร่งการผลิตในอินเดียให้มากขึ้นเพื่อเอาชนะมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมีรายงานว่าเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา “แอปเปิ้ล” ได้ดำเนินการขนส่ง iPhone จำนวน 600 ตัน มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ จากอินเดียไปยังสหรัฐฯ
“รอยเตอร์ส” ระบุว่า การขนส่งไอโฟนดังกล่าวถือเป็น “สถิติใหม่” สำหรับซัพพลายเออร์ ทั้ง “ทาทา” และ “ฟ็อกซ์คอนน์” ซึ่งเฉพาะฟ็อกซ์คอนน์เพียงรายเดียวก็คิดเป็นมูลค่าถึง 1,300 ล้านดอลลาร์
ในขณะที่แอปเปิ้ลขยายการผลิตออกไปนอกจีน บริษัทได้วางสถานะอินเดียให้มีบทบาทสำคัญต่อไปในภาคการผลิต โดยปัจจุบัน “ฟ็อกซ์คอนน์” และ “ทาทา” ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลักสองรายในอินเดีย มีโรงงานทั้งหมด 3 แห่ง และกำลังก่อสร้างเพิ่มอีก 2 แห่ง
ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากอินเดีย 26% ซึ่งต่ำกว่ามากเมื่อเทียบอัตราภาษีนำเข้าจากจีน ที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ถึง 145% ก่อนที่ภายหลังจะระงับการเรียกเก็บภาษีออกไป 90 วัน ยกเว้นแค่กับจีน ทว่าในภายหลังเริ่มมีสัญญาณผ่อนคลายท่าทีจากสหรัฐฯ มากขึ้น ท่ามกลางความกังวลว่าผลกระทบจากเรื่องนี้อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย