Home Thailand ธนาคารโลกหั่น GDP ไทย โต 1.6% ต่ำสุดในภูมิภาค

ธนาคารโลกหั่น GDP ไทย โต 1.6% ต่ำสุดในภูมิภาค

by admin

“ธนาคารโลก” ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 2568 เหลือโต 1.6% ชะลอลงจาก ก.พ.68 ที่ได้ประเมินเติบโตได้ 2.9% หลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ กระทบส่งออก-การลงทุน

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2568 เหลือโต 1.6% ชะลอลงจากเมื่อเดือน ก.พ.68 ที่ได้ประเมินว่าจะเติบโตได้ 2.9% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศและความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุน ซึ่งจากความไม่แน่นอนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ในระดับสูงด้วย

ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะลดลงมาอยู่ที่ 4.0% จาก 5.0%

คาดการณ์ GDP ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

– มองโกเลีย โต 6.3%

– เวียดนาม โต 5.8%

– ฟิลิปปินส์ โต 5.3%

– อินโดนีเซีย โต 4.7%

– จีน โต 4.0%

– กัมพูชา โต 4.0%

– มาเลเซีย โต 3.9%

– สปป.ลาว โต 3.5%

ส่วนภาพรวมประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก โต 2.5%

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนในระดับสากลที่เพิ่มมากขึ้น กำลังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งภาคธุรกิจ และผู้บริโภค ส่งผลให้การลงทุนและการบริโภคถูกจำกัด นอกจากนี้ การส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดทางการค้า ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลทำให้อุปสงค์ภายนอกประเทศยังคงลดลงต่อไป

“ในขณะที่ต้องหาทางรอดท่ามกลางโลกที่ผันผวน ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ยังมีโอกาสที่จะรักษาแนวโน้มทางเศรษฐกิจของตนเองให้แข็งแกร่งขึ้นได้ โดยการลงทุนและรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ รวมถึงเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ผ่านการปฏิรูปอย่างจริงจัง และสร้างความร่วมมือระดับสากลในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น” มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ระบุ

อย่างไรก็ดี แนวโน้มการเติบโตดังกล่าว อาจปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับแนวโน้มการเติบโตในภาพรวม และอีกส่วนขึ้นอยู่กับนโยบายในการตอบสนองต่อความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกของแต่ละประเทศ

ขณะที่อัตราความยากจนในภูมิภาคนี้ จะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงปี 2567-2568 ประชากรราว 24 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก จะหลุดพ้นจากความยากจนได้ อ้างอิงตามเส้นแบ่งความยากจนของผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูง (ระดับความยากจนสำหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ที่ 6.85 เหรียญสหรัฐต่อวัน)

ธนาคารโลก เสนอแนะแนวทางการตอบสนองเชิงนโยบาย 3 ประการ

แนวทางแรก คือ การนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะสามารถกระตุ้นผลิตภาพ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังการสร้างงานที่เพิ่มขึ้นมาใช้ ดังที่ประเทศมาเลเซีย และไทยได้ดำเนินการไว้

แนวทางที่ 2 คือ การปฏิรูปเพื่อยกระดับการแข่งขัน โดยเฉพาะในด้านการบริการ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ดังที่เห็นได้จากกรณีของประเทศเวียดนาม

แนวทางที่ 3 คือ การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมความแกร่งทางเศรษฐกิจได้

“การผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ กับการปฏิรูปที่จริงจัง และความร่วมมือเชิงนวัตกรรม สามารถช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และความท้าทายในระยะยาวได้ นั่นคือสูตรสำหรับการเพิ่มผลิตภาพและการสร้างงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม” อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก กล่าว

Related Articles

Leave a Comment