แล้วจะมี ส.ส.-ส.ว.ทำพระแสงอะไร! “อดิศร” เห็นแย้งญัตติส่งศาลวินิจฉัยชี้ขาดแก้ รธน. เหน็บมีสมาชิกทั้งรัฐสภา 750 คน ‘มีเยอะ แต่ไม่ได้เรื่อง’ ทำไมต้องไปอาศัยบริการ 9 คน ลั่นพร้อมหนุนเดินหน้าแก้ รธน.
วันนี้ (29 มี.ค.) ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 31 ให้รัฐสภามีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2)
โดย นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนเป็นผู้แทนมาตั้งแต่ปี 2531 ไม่เคยคิดว่าวันนี้จะมาสงสัยหน้าที่ของเราไปให้คนอื่นเขา บอกว่าเรามีหน้าที่อะไร ตนอยากเชิญชวน ส.ส. และ ส.ว. เราอาสามาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเรามีอำนาจอะไรบ้าง ปี 2531 ตนหาเสียงว่าจะมาเป็นผู้แทนราษฎรเพื่อมาเสนอกฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายใดที่ล่าสมัยตกยุคต้องยกเลิก กฎหมายใดที่ขัดขวางต่อการพัฒนาประเทศก็ปรับปรุงแก้ไข ตนเชื่อมั่นว่ามีอำนาจเช่นนั้นจริงๆ
นอกจากนี้ ส.ส.ยังสามารถตั้งกระทู้ถาม ยื่นญัตติทั่วไปยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ ทั้งลงคะแนนและไม่ลงคะแนน ตนยังเชื่อมั่นว่า ส.ส.เรายังมีอำนาจอยู่ ตนพยามเปิดดูอำนาจและหน้าที่ของ ส.ส. ,ส.ว. และรัฐสภา อยู่ที่มาตราใด แต่ไม่มีมาตราที่ระบุชัดเจนว่า แต่มีเพียงว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง
นายอดิศร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญทุกฉบับแก้ได้ แล้วแต่ยุคแต่ละสมัยแก้กันมา แต่แก้ยากกว่ากฎหมายธรรมดา ยิ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยิ่งแก้ยาก เพราะเขาเขียนไว้ไม่ให้มีการแก้ไข จะแตะอะไรผิดหมด เรียงมาตรา ทั้งฉบับ จะตั้ง ส.ส.ร.ต้องทำประชามติ อันนั้นคือทำลาย อำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร ตนเข้าใจว่า ส.ว.เป็นสภาฯ การกลั่นกรองกฎหมายจากสภาล่าง ตนสงสัยว่าวันนี้ท่านเข้าใจเหมือนตนพูด แต่ข้อมูลฉบับนี้เป็นอุปสรรคที่เราต้องแก้ไขให้ได้ถึงจะไปใช้บริการองค์กรอื่น
“เราเรียนรัฐธรรมนูญมา อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แยกกันและถ่วงดุลกัน ไม่ใช่คร่อมเลน มีบางครั้งจะยื่นญัตติได้หรือไม่ ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน มันอะไรกัน เขาอยู่ฝ่ายตุลาการ ส่วนเราอยู่ฝ่ายนิติบัญญัติ เราคิดของเราเองได้จะทำอะไร กลัวองค์กรอื่นถามว่าทำได้หรือเปล่า แล้วจะมีรัฐสภา ส.ว. และ ส.ส.ไปทำพระแสงอะไร ในเมื่อร่างกฎหมาย เสนอกฎหมายไม่ได้”
ทั้งนี้ ตนเชื่อมั่นว่าถ้าเราไม่ยกย่องอำนาจของเราเอง แล้วปล่อยให้อำนาจอื่นซึ่งเป็นปลาคนละน้ำ มาวินิจฉัยอำนาจของเราๆ จะอ่อนข้อเกินไปหรือไม่ แล้วผู้แทนปวงชนชาวไทยจะอยู่อย่างไร ถ้าอำนาจเหล่านี้ไม่มี ตนอยากให้สภาฯ มีโอกาสแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตนไม่ขอกล่าวที่มา เพราะรู้กันทั่ว แต่ถ้าไม่แก้กฎหมายรัฐธรรมนูญจะเดินต่อไปไม่ได้ เพราะมีอุปสรรคหลายอย่างในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ทำให้ประชาธิปไตยมันเดินไปได้ยาก
นายอดิสร กล่าวต่อว่า เรามาสงสัยอำนาจของเราเอง ว่า ส.ส. , ส.ว. และรัฐสภา มีอำนาจอะไรทั้งหมด 500+250 = 750 ไม่มีปัญญาตีความอำนาจของตัวเอง เลยไปอาศัยใช้บริการ 9 คน แล้ว 750 คน มีเยอะ แต่ไม่ได้เรื่อง ต้องไปพึ่งใบบุญของ 9 คน ก็เป็นอุทาหรณ์สอนใจว่าประเทศเรา 2567 เดินทางมาสู่จุดนี้
“ย้อนหลังไปปี 2518 รัฐธรรมนูญเราก้าวหน้ากว่านี้ หรือ 2540 ก็ก้าวหน้ากว่านี้ เราต้องตั้งสติให้ดี อย่าถือว่าเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายวุฒิสภา หรือฝ่ายใดเราต้องเห็นร่วมกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ไข ปล่อยไว้อย่างนี้ไม่ได้ ลูกหลานจะมาถอนหงอกเรา แต่วิธีการแก้ไขมันริบหรี่ เหมือนเข้าอุโมงค์ที่เขายากเหลือเกิน เพราะหากคน 9 คนไม่เห็นด้วย ก็เดินต่อไปไม่ได้” นายอดิศร กล่าวย้ำ